“พาณิชย์” ดันสุราษฎร์ธานีโมเดลเป็นต้นแบบแก้ปัญหาปาล์มราคาตกต่ำ ดึงโรงงานสกัด ลานเท เกษตรกร ลงนาม MOU จะร่วมกันผลิตและรับซื้อผลปาล์มสดที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% เท่านั้น พร้อมใช้เป็นต้นแบบในจังหวัดกระบี่และชุมพรต่อไป
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วานนี้ (26 ก.ค.) ว่า กระทรวงพาณิชย์ได้แก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันทั้งระบบ โดยผลักดันให้เกษตรกรมีการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมันให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงขึ้น เพื่อสร้างเสถียรภาพด้านราคาและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน และยังได้ดึงลานเทที่รับซื้อปาล์มน้ำมัน และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ให้ร่วมมือในการรับซื้อปาล์มน้ำมันที่เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สูงขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพน้ำมันปาล์มที่จะนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น
“กระทรวงฯ ได้ผลักดันให้เกษตรกร ลานเท และโรงงานสกัดในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีร่วมมือกันในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยล่าสุดได้มีการลงนามใน MOU ร่วมกัน เพื่อรับซื้อปาล์มน้ำมันที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% แล้ว โดยจะมีผลบังคับภายใน 30 วันนับจากที่ได้ลงนามกัน และในระยะต่อไปกระทรวงฯ จะใช้รูปแบบที่ได้ดำเนินการที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นต้นแบบไปใช้ในจังหวัดอื่นๆ ที่มีการปลูกปาล์ม ทั้งกระบี่และชุมพรต่อไป” นางอภิรดีกล่าว
ทั้งนี้ MOU ดังกล่าวได้กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในจังหวัดสุราษฎร์ธานีต้องรับซื้อปาล์มทะลายที่มีคุณภาพ เพื่อให้สามารถสกัดน้ำมันปาล์มดิบได้ 18% เกษตรกรจะตัดปาล์มทะลายสุก ก้านทะลายสั้น และขายปาล์มทะลายที่มีคุณภาพดีเท่านั้น ส่วนลานเทปาล์มน้ำมัน จะรับซื้อปาล์มทะลายที่มีคุณภาพและไม่ทำลูกร่วงและส่งขายโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันหากซื้อปาล์มน้ำมันที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% จะขายผลปาล์มดิบได้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 4.20 บาท
ส่วนการแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในระยะยาว กระทรวงฯ มีแผนที่จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์ม และผลักดันให้มีกฎหมายดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม โดยล่าสุดกระทรวงเกษตรฯ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะมีการกำหนดแนวทางการเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การสร้างเครือข่ายทั้งระบบร่วมกันพัฒนาเปอร์เซ็นต์น้ำมัน การตัดปาล์มสุก และให้กำหนดมาตรฐานทะลายปาล์ม ลานเท และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม เข้าไว้ในกฎหมาย ซึ่งหลังจากกฎหมายบังคับจะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มทำได้ดีขึ้น
สำหรับปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 แสนตัน สูงกว่าสต๊อกเพื่อความมั่นคงที่ควรอยู่ระหว่าง 2-2.5 แสนตัน ซึ่งได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสต๊อกเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปอย่างเร่งด่วน หากพบการลักลอบนำเข้าก็จะดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มน้ำมันภายในประเทศ