xs
xsm
sm
md
lg

ดัน “บ้านฉางโมเดล” นำร่องพัฒนาเมืองฯ เมืองใหม่เชิงนิเวศในพื้นที่อีอีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมโรงงานจับมือภาคเอกชนดัน “บ้านฉางโมเดล” นำร่องพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่อีอีซี จากทั้งหมด 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัด

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรมฯ อยู่ระหว่างเสนอแผ่นแม่บทและแผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (อีโค อินดัสเทรียล ทาวน์) ปี 2561-64 เพื่อพัฒนา 18 พื้นที่ใน 15 จังหวัดให้เป็นเมืองใหม่เชิงนิเวศ โดยพื้นที่นำร่องที่ดำเนินการก่อนในพื้นที่ บ้านฉางโมเดล อ.บ้านฉาง จ.ระยอง เพื่อให้สอดรับกับการพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซี ที่มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในเร็วๆ นี้ หากได้รับการอนุมัติก็เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ ตอบโจทย์การพัฒนาอีอีซีตามนโยบายรัฐบาล

นายเดชา พิมพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กรอ.กล่าวว่า กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการคัดเลือกพื้นที่ โดยเลือกพื้นที่เทศบาลเมืองบ้านฉาง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง คาดว่าคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย จะเป็นผู้เสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารอีอีซีปลายเดือนกรกฎาคมนี้

“บ้านฉางเป็นพื้นที่ที่ประชาชนให้การสนับสนุน ขนาดพื้นที่จำนวน 1,400 ไร่ จำนวนประชากร 11,000 คน หลักการพัฒนาจะทำเป็นคอมเพล็กซ์ ให้มีการลงทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ศูนย์การค้า ศูนย์บริการลอจิสติกส์ ให้ประชาชนในพื้นที่ได้ประโยชน์สูงสุด ร่วมเป็นเจ้าของตั้งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่การขายสิทธิให้กับนักลงทุน ขณะเดียวกันก็สามารถรับประชาชน หรือนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติให้เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันได้” นายเดชากล่าว

สำหรับภาพรวมพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศกำหนดไว้ 15 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปราจีนบุรี ชลบุรี นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา ของแก่น สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งในแต่ละจังหวัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้หารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกจังหวัด ออกแบบโครงการพัฒนาให้เหมาะสมกับพื้นที่เพื่อให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ตามที่ต้องการ ซึ่งโครงการนี้จะใช้เวลา 20 ปี จะทำให้เกิดเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไม่ต่ำกว่า 45 พื้นที่ ใน 15 จังหวัด รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น