รฟม.แบกค่าบำรุงรักษาโครงสร้างสายสีน้ำเงินยาวถึงปี 62 เผยรับเหมาทยอยส่งมอบงานโยธา โดยสัญญา 2 เสร็จก่อนตั้งแต่ ก.ย. 59 และสัญญาที่เหลือทยอยเสร็จตั้งแต่ปลายปีนี้ ทำให้มีค่าดูแลโครงสร้างระหว่างรองานวางระบบ ด้าน BEM เคาะซื้อรถซีเมนส์ให้บริการส่วนต่อขยาย เพื่อสะดวกในการเชื่อมต่อกับเฉลิมรัชมงคล
แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ขณะนี้ผู้รับเหมาได้เร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ คือ บมจ.ช.การช่าง ได้ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ซึ่งทำให้มีค่าบำรุงรักษา (Care of Work) ตัวโครงสร้างที่เสร็จก่อนประมาณ 5 ล้านบาทต่อเดือน โดยจะมีการเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.พิจารณาในวันที่ 26 ก.ค.นี้ ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องมีค่าบำรุงรักษาโครงสร้างเนื่องจากเซ็นสัญญาเดินรถล่าช้า
ด้านนายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. กล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระว่า ผู้รับจ้างสัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ คือ บมจ.ช.การช่าง ได้ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้วตั้งแต่เดือน ก.ย. 2559 ซึ่งทำให้มีค่าบำรุงรักษาตัวโครงสร้างที่เสร็จก่อน
โดย รฟม.จะต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงสร้างไปจนกว่าทาง BEM จะเริ่มมีการทดลองเดินรถไฟฟ้าเสมือนจริง (Trail running) ซึ่งตามแผนจะมีการทยอยเปิดเดินรถเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-ท่าพระ เปิดในเดือน ก.ย. 62 และระยะที่ 2 สายเหนือช่วงเตาปูน-ท่าพระ-หลักสอง เปิดในเดือน มี.ค. 63 ซึ่งจะเป็นการเปิดได้ตลอดสายทาง
ขณะที่สัญญาอื่นๆ ผู้รับจ้างจะทยอยส่งมอบตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 นี้ เริ่มจาก สัญญาที่ 4 ช่วงท่าพระ-หลักสอง ซึ่ง บมจ.ซิโน-ไทย ขอขยายสัญญาไปถึงปลายปีนี้ สัญญาที่ 1 ซึ่งเป็นโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.85 กิโลเมตร ที่มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้รับจ้าง สัญญา 3 ช่วงเตาปูน-ท่าพระ มีกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น รับงานขยายสัญญาก่อสร้างไปถึงกลางปี 61เนื่องจากติดปัญหาเข้าพื้นที่สามแยกไฟฉาย ขณะที่สัญญางานระบบรางช่วงหัวลำโพง-บางแค มี บมจ. ช.การช่าง เป็นผู้รับงาน จะทยอยเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งต่อไป
***BEM เคาะซื้อรถซีเมนส์ให้บริการส่วนต่อขยาย
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น ขณะนี้ได้เข้าสำรวจเพื่อทำแบบ เพื่อเตรียมทยอยสั่งซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเดินรถ ส่วนรถไฟฟ้านั้น ได้เลือกใช้รถไฟฟ้ายี่ห้อซีเมนส์ เหมือนกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล โดยเป็นรถซีเมนส์ที่ประกอบที่ออสเตรีย ซึ่งในการตัดสินใจคาดว่าจะพิจารณาจากคุณภาพของรถที่ให้บริการในสายเฉลิมรัชมงคลในช่วงที่ผ่านมามีความสะดวกและไม่มีปัญหา ถือเป็นระบบเดียวกันที่สะดวกในการเชื่อมต่อมากกว่าการเปลี่ยนยี่ห้อใหม่
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานจะลงทุนประมาณ 20,826 ล้านบาทติดตั้งระบบ จัดหารถไฟฟ้าจำนวน 35 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้