ครม.เห็นชอบผลการเจรจาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย รฟม.เตรียมเซ็นจ้าง BEM รับสัมปทาน 30 ปี คาด เม.ย.นี้พร้อมทยอยเปิดเดินรถปลายปี 62 ช่วงสถานีหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสองได้ก่อนในปลายปี 2562 และเปิดทั้งระบบต้นปี 2563 “อาคม” ลั่นค่าโดยสารเริ่มต้น 16-42 บาทเท่าเดิม ประชาชนได้ประโยชน์จ่ายเท่าเดิมเดินทางได้ยาวขึ้น พร้อมเตรียมหาคนกลางตรวจสอบรายได้-รายจ่าย อีกชั้นเพื่อความโปร่งใส
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 มี.ค. มีมติเห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ พร้อมกันนี้ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการให้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 และมีมติเพิ่มเติมในเรื่องระบบตั๋วร่วมให้เพิ่มเติมในข้อสัญญาเพื่อให้เริ่มใช้งานได้ทันที และพิจารณาคนกลาง (Third Party) เพื่อตรวจสอบในเรื่องรายได้ รายจ่าย ของโครงการหลังจากที่มีการรวมสัญญาเพื่อความโปร่งใส
ทั้งนี้ ผลการเจรจาผู้เดินรถรายเดิม คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในเรื่องค่าลงทุน ค่างานระบบรถไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษา ผลตอบแทนต่างๆ หลักการเจรจาได้ยึดหลักผลประโยชน์ต่อประชาชนใน 2 เรื่อง คือ ไม่มีค่าแรกเข้า หรือเก็บเพียงครั้งเดียว และจัดเก็บอัตราค่าโดยสารเท่าเดิมเริ่มต้นที่ 16 บาทสูงสุดที่ 42 บาท สามารถเดินทางได้ตลอดสายของสายเฉลิมรัชมงคล จำนวน 18 สถานี และส่วนต่อขยาย 19 สถานี เป็นประโยชน์ที่คืนให้ประชาชนประมาณ 62,569 ล้านบาท คิดเป็น 2,085 ล้านบาทต่อปี
ส่วนเรื่องอัตราผลตอบแทน (IRR) ต่อรองที่ 9.75% ตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กรณีมีรายได้ผลตอบแทน IRR เกิน 9.75-11.0% รฟม.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ 50:50 กรณีIRR 11.0-15.0% รฟม.จะได้รับส่วนแบ่ง 60 : 40 และกรณี IRR เกิน 15.0% รฟม.จะได้รับส่วนแบ่ง 75:25
โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะมี 3 ส่วน ได้แก่ สัญญาสายเฉลิมรัชมงคลเดิม จะหมดในปี 2572 ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด และเมื่อครบสัญญาจะผนวกรวมกับสัญญาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่สิ้นสุดปี 2592 พร้อมกัน
นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินใช้รูปแบบ PPP-Net Cost รัฐไม่อุดหนุนการเงิน เอกชนมีความเสี่ยงในการดำเนินงาน โดยรายได้จะขึ้นกับปริมาณผู้โดยสาร ซึ่งรัฐได้เจรจาในเรื่องค่าโดยสารเพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดยเก็บในอัตราเดิมของสายเฉลิมรัชมงคล สามารถเดินทางเป็นวงกลมได้ไกลขึ้น และการเดินรถต่อเนื่องมีประสิทธิภาพและปลอดภัย เนื่องจากเป็นผู้เดินรถรายเดิม โดยจะนำข้อสั่งการเพิ่มเติมเรื่อง Third Party และตั๋วร่วมเจรจากับ BEM และเร่งลงนามสัญญาให้เร็วที่สุด ตามแผนจะเปิดเดินรถบางส่วนจากสถานีหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ปลายปี 2562 และเปิดได้ทั้งระบบในต้นปี 2563 โดยเอกชนมีเวลาในการจัดหาติดตั้งระบบและตัวรถ 3 ปี
“ยังกำหนดวันลงนามสัญญาไม่ได้ เพราะต้องขอดูมติ ครม.อย่างละเอียดก่อน เนื่องจากมีมติเพิ่มเติมเรื่อง Third Party และตั๋วร่วม ที่ต้องแจ้งกับทาง BEM ให้เข้าใจตรงกัน โดยเฉพาะการหาคนกลางมาตรวจสอบรายได้ รายจ่าย ซึ่งปกติจะมีคณะกรรมการ ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ กำกับดูแลสัญญาอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่มติ ครม.ต้องการให้มีความโปร่งใสมากที่สุด ว่ารายได้จากค่าโดยสารที่รายงานมาถูกต้องหรือไม่ ยังมีเรื่องตั๋วร่วมอีก” ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าว