“พาณิชย์” ไฟเขียวปลากระป๋องตราอะยัมขึ้นราคา 3 บาท เป็นกระป๋องละ 36 บาท หลังผู้ผลิตแจงต้นทุนนำเข้าพุ่ง แต่ปลากระป๋องคนไทยยังคงราคาเดิม 17.50-18.50 บาท แนะผู้บริโภคต้องฉลาดซื้อประหยัดใช้ เลือกซื้อเลือกบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกกว่า
นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าปลาแม็กเคอเรล ยี่ห้ออะยัม ได้ทำหนังสือถึงกรมฯ เพื่อขอปรับขึ้นราคาจำหน่ายปลากระป๋องขนาด 155 กรัม จากปัจจุบันราคา 33 บาท เพิ่มเป็น 38 บาท หรือปรับเพิ่ม 5 บาทต่อกระป๋อง โดยให้เหตุผลว่าเป็นปลากระป๋องนำเข้า และประเทศต้นทางคือมาเลเซียได้ปรับขึ้นราคา ทำให้ปลายทางต้องขอปรับราคาเพิ่มขึ้นด้วย แต่กรมฯ ได้พิจารณาต้นทุนแล้วพบว่า ราคาที่เหมาะสมอยู่ที่กระป๋องละ 36 บาท หรือให้ปรับขึ้นกระป๋องละ 3 บาท ซึ่งกรมฯ ได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาตามที่ได้พิจารณา และได้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการแล้ว
สำหรับปลากระป๋องที่เป็นของผู้ผลิตคนไทยที่จำหน่ายในประเทศ ทั้งตราสามแม่ครัว ปุ้มปุ้ย ไฮคิว และโรซ่า ซึ่งมีขนาดบรรจุเท่ากันที่ 155 กรัม ยังคงจำหน่ายในราคาเดิม ไม่มีการปรับขึ้นราคา ซึ่งมีราคาจำหน่ายเฉลี่ยตั้งแต่ 17.50-18.50 บาทต่อกระป๋อง
“กรมฯ ได้พิจารณาโครงสร้างต้นทุนสินค้าตามความเหมาะสม แม้ผู้ประกอบการจะขอขึ้นราคา 5 บาท แต่กรมฯ เห็นว่าควรขึ้นแค่ 3 บาท ก็อนุมัติให้ปรับขึ้นแค่ 3 บาท แต่ก็ยังถือว่ามีข่าวดีสำหรับผู้บริโภคในประเทศ เพราะราคาปลากระป๋องที่ผลิตโดยคนไทยไม่มีการปรับขึ้นราคา จึงขอให้ผู้บริโภคฉลาดซื้อประหยัดใช้ กินของไทย ใช้ของไทยซึ่งมีราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง” นางนันทวัลย์กล่าว
สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภครายการอื่นๆ ยังไม่มีรายการใดขอปรับราคาเข้ามา ยกเว้นปลากระป๋อง รวมทั้งการขออนุญาตปรับลดขนาดสินค้าและการตั้งราคาสินค้าใหม่ก็ยังไม่มีการเสนอเข้ามา ยกเว้นนมที่มีการเพิ่มโปรตีนสำหรับนักเพาะกาย ซึ่งเป็นนมเฉพาะกลุ่ม เพราะต้นทุนสินค้าทรงตัว โดยต้นทุนวัตถุดิบส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับขึ้นราคา อีกทั้งยังมีการแข่งขันของผู้ผลิตสินค้าที่จะต้องมีจัดส่งเสริมการขาย หากมีการปรับขึ้นราคาอาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม กรมฯ ได้มีการวิเคราะห์ต้นทุนของสินค้า กรณีหากมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2560 เพิ่มขึ้น 8.87 สตางค์ต่อหน่วย โดยพบว่า มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้าน้อยมากแค่ 0.0001-0.1886% หรือแทบจะไม่มีผลกระทบเลย จึงไม่มีเหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นข้ออ้างในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายสินค้า ขณะที่การลอยตัวก๊าซหุงต้มก็ไม่มีผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า เพราะราคาไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงพลังงานได้ดูแลอยู่โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาใช้อุดหนุน