“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” หารือร่วม ก.ล.ต. แก้ปัญหา Startup ที่มีไอเดียแต่ไร้เงินทุน ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อมาใช้ทำธุรกิจ เสนอปรับแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้สามารถใช้หุ้นในการระดมทุน เผยถ้า ก.ล.ต.ออกประกาศภายใต้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนก็ทำได้ทันที แต่หากรอแก้กฎหมายต้องใช้เวลานาน
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดประชุมหารือเรื่อง “การหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น” ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ คณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้น สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association) และสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Thai Venture Capital Association) เพื่อหารือแนวทางในการระดมทุนเพื่อส่งเสริมธุรกิจในกลุ่ม Startup ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีเงินทุนในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ
ทั้งนี้ ธุรกิจ Startup ในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเติบโตได้เท่าที่ควร เพราะประสบปัญหาเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะแรกเริ่มกิจการ จึงทำให้สถาบันการเงินมักจะไม่ปล่อยสินเชื่อให้ ประเด็นนี้ส่งผลให้ Startup ไม่สามารถหาแหล่งเงินทุน จึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจบางรายไม่สามารถดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จได้
สำหรับการประชุมหารือในครั้งนี้ คณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นได้ยื่นข้อเสนอแนะให้กับที่ประชุมเพื่อขอแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใน 4 ประเด็น คือ 1. การออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) กล่าวคือการเปลี่ยนจากสภาพหนี้ให้กลายเป็นหุ้นแก่เจ้าหนี้การค้า 2. การเปลี่ยนแปลงบุริมสิทธิในหุ้น (Preferred Shares) 3. การทยอยให้หุ้น (vesting) หรือสิทธิที่จะซื้อหุ้นได้ในราคาที่กำหนด และ 4. การออกหุ้นให้พนักงานหรือกรรมการ (ESOP) โดยเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ที่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
“กรมฯ ได้จัดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมหาแนวทางเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดรับกับภาคธุรกิจในปัจจุบันจากผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีความเป็นไปได้ใน 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ก.ล.ต.สามารถออกเป็นประกาศภายใต้คณะกรรมการกำกับตลาดทุนได้ทันที และแนวทางที่ 2 การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การแก้ไขกฎหมายจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบพิจารณาถึงผลกระทบด้านต่างๆ ประกอบกับมีขั้นตอนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จึงอาจทำให้ต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่า เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว