“กนอ.” สั่งหยุดที่เกิดการรั่วไหลสารไซลีนในโรงอะโรเมติกส์ 2 และหา Third Party เพื่อดำเนินการตรวจสอบประเมินหาสาเหตุ และกำหนดแผนการปรับปรุงแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาวให้แล้วเสร็จใน 30 วัน
นางสุวัฒนา กมลวัทนนิศา รองผู้ว่าการ ปฏิบัติงานแทนผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) แจ้งว่า กรอ.อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สาขา 5 โรงอะโรเมติกส์ 2 ดำเนินการระงับการดำเนินกิจกรรมในหน่วยที่เกิดการรั่วไหลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พร้อมทั้งจัดหา Third Party เพื่อดำเนินการตรวจสอบประเมินหาสาเหตุ และกำหนดแผนการปรับปรุงแก้ไขปัญหาระยะสั้น และระยะยาว โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายใน 30 วัน (13 ก.ค. - 12 ส.ค. 2560) และรายงานให้ กนอ.ทราบเป็นระยะ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการให้แก่ผู้ประกอบการ และเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติหน้าที่ของโรงงานอุตสาหกรรมต่อไป
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากวันที่ 12 ก.ค. บริษัทฯ ได้มีการปิดซ่อมบำรุงโรงอะโรเมติกส์หน่วยที่ 2 จังหวัดระยอง ระหว่างการทดสอบเดินเครื่องได้เกิดการรั่วไหลของสารไซลีนจากโรงอะโมติกส์บริเวณกระจกช่องมองของไหล (Flow Sight Glass) ระหว่างการระบายของเหลวจากหอกลั่นไปยังถังพักใต้ดินซึ่งเป็นระบบปิด และเป็นกระบวนการตรวจสอบการไหลของของเหลวบริเวณด้านข้างหอกลั่นภายในโรงงานอะโรเมติกส์ โดยทีมระงับเหตุได้ดำเนินการปิดวาล์วของท่อส่งสารไซลีนเพื่อหยุดการรั่วไหล และเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของสารออกไปภายนอกโรงงาน และใช้น้ำดับเพลิงฉีดเป็นละอองน้ำเพื่อไม่ให้แพร่กระจายไปในอากาศ
ด้านผลการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมโดยทีมสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่ตรวจสอบรอบโรงงาน โดยผลการตรวจวัดค่า VOCs หรือสารอินทรีย์ระเหยง่าย ทั้ง 12 จุด อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยหลังเกิดเหตุบริษัทได้ทำความสะอาดพื้นที่กระบวนการผลิต ตรวจสอบอุปกรณ์กระจกช่องมองของไหล และนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุ รวมถึงลงพื้นที่ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าสารไซลีนที่รั่วไหลจากเหตุการณ์นี้เป็นสารอินทรีย์กลุ่มอะโรเมติกส์ มีสถานะเป็นของเหลว ไม่มีสี น้ำหนักเบากว่าน้ำ ระเหยง่าย ได้จากการกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หากสูดดมเข้าไปอาจก่อให้เกิดความรำคาญและระคายเคืองระบบทางเดินหายใจ ไม่จัดอยู่ในกลุ่มสารก่อมะเร็ง ตามข้อมูลอ้างอิงจากองค์กรนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (ACGIH) องค์กรอนามัยโลก (WHO) และศูนย์รักษาพิษสารเคมีอันตราย ภาคตะวันออก โรงพยาบาลระยอง