“อคส.” เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระที่ต้องจ่ายให้เอกชนคู่สัญญาเช่าฝากเก็บสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำของรัฐบาลที่ผ่านมา เตรียมนัดโรงสี เจ้าของโกดังถก 15 ก.ค.นี้ เผยมีหนี้กว่า 4.7 พันล้านบาทที่จะต้องเคลียร์ หลังไม่ยอมคืนนานจนเอกชนบางรายฟ้องร้องบอร์ด-เจ้าหน้าที่ อคส. ยอมรับต้องทยอยคืน เหตุเงินหมด ต้องรองบประมาณใหม่ คาด 2-3 ปีจ่ายหมด
พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.) เปิดเผยว่า วันที่ 15 ก.ค.นี้จะเชิญผู้ประกอบการโรงสี และเจ้าของโกดังกลางที่เป็นคู่สัญญาของ อคส. จากการเช่าฝากเก็บสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา มาหารือถึงแนวทางการจ่ายค่าใช้จ่ายค้างจ่ายที่ อคส.ยังค้างจ่ายให้กับภาคเอกชน โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. 2560 มีคู่สัญญาที่ อคส.ยังค้างจ่ายประมาณ 567 ราย คิดเป็นเงินที่ต้องจ่าย 4,820 ล้านบาท แยกเป็นที่จ่ายได้ เพราะไม่มีปัญหาและติดคดีความจำนวน 3,045 ล้านบาท และที่จ่ายให้ไม่ได้เพราะติดคดี เช่น ทำสินค้าเกษตรเสียหาย สูญหาย เสื่อมสภาพ จำนวน 1,775 ล้านบาท
“ที่ผ่านมา อคส.ได้ทยอยจ่ายไปแล้วแต่ยังจ่ายไม่หมด โดยในจำนวนนี้มีทั้งที่จ่ายได้เลย และติดคดี ซึ่งในส่วนที่ไม่ติดคดีจะจ่ายได้เลย แต่ อคส.ไม่มีงบประมาณเพียงพอ จำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งได้หารือกับสำนักงานงบประมาณไปบ้างแล้ว คาดว่าจะทยอยจ่ายให้จนครบภายใน 2-3 ปี ส่วนที่ติดคดีก็จะมาดูว่าจะดำเนินการกันอย่างไร”
ทั้งนี้ ปัญหาค้างจ่ายดังกล่าวเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเมื่อโครงการรับจำนำสินค้าเกษตรสิ้นสุดและขายสินค้าเกษตรในสต๊อกรัฐบาลออกจากโกดังจนหมดแล้ว ตามหลัก อคส.ต้องจ่ายค่าเช่าโกดัง ค่าฝากเก็บให้กับคู่สัญญา และต้องคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้คู่สัญญา แต่ที่ผ่านมา อคส.มักจะคิดว่าคู่สัญญารายใดที่มีปัญหาหรือมีคดีความติดค้างกันอยู่ก็จะยึดหนังสือหรือหลักทรัพย์ค้ำประกันจากคู่สัญญารายนั้นๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของค่าชดใช้ที่ต้องจ่ายให้ อคส. เพราะหากคู่สัญญาแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดใช้ให้ อคส. ทำให้ไม่ได้คืนหลักทรัพย์ค้ำประกันให้คู่สัญญาเป็นจำนวนมาก จนบางรายถึงขั้นฟ้องร้องบอร์ด และเจ้าหน้าที่ อคส.
อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้เห็นว่าในส่วนของหลักทรัพย์ค้ำประกัน เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ควรจะคืนให้คู่สัญญา เพราะหนังสือค้ำประกันส่วนใหญ่ต้องไปกู้แบงก์มา และต้องเสียดอกเบี้ย หากไม่คืนก็ต้องเสียดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ ส่วนกรณีที่จะเป็นคดีความกันในภายหลังก็จะต้องไปฟ้องร้องเพื่อให้คู่สัญญาชดใช้ค่าเสียหาย หากไม่มีก็ต้องตามไปยึดทรัพย์มาชำระ