xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมเร่งแบบขยายทางวิ่งสถานีตากสิน บีทีเอสคาดใช้งบเกือบ 1 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บีทีเอสเร่งออกแบบรายละเอียด ขยายสถานี S6 สะพานตากสิน “คมนาคม” รอตรวจเช็กก่อนอนุมัติลงมือ คาดลงทุนเกือบพันล้าน ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง เหตุต้องขยายสะพานสาทรก่อนลงทุนขยายสถานีและวางรางเพื่อไม่ให้กระทบการจราจร

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานตากสิน (S6) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับสะพานตากสิน ของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ว่า ล่าสุดทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส ได้ส่งแบบเบื้องต้นแล้ว ซึ่งในหลักการได้เห็นชอบรูปแบบที่จะปรับปรุงร่วมกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถอนุมัติให้ดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องมีการออกแบบรายละเอียด (Detail & Design) ก่อนเพื่อให้เห็นรายละเอียดของการก่อสร้างทั้งหมดจึงจะอนุมัติได้ ทั้งนี้ เพื่อความแน่ใจในการดำเนินงานว่าจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อตัวสะพานและให้มีผลกระทบต่อการจราจรน้อยที่สุด       

“กระทรวงคมนาคม กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้หารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และบีทีเอส และเห็นตรงกันในหลักการของแบบเบื้องต้นแล้ว และได้ให้บีทีเอสไปดำเนินการออกแบบรายละเอียด ซึ่งผ่านมา 4-5 เดือนแล้ว ซึ่งได้ให้ ทช.ทำหนังสือเร่งรัดแล้วเพื่อนำรายละเอียดมาพิจารณาทางเทคนิคร่วมกัน และ ทช.จะต้องตรวจสอบแบบก่อนจะอนุญาตอย่างเป็นทางการด้วย”
         
ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บีทีเอส กล่าวว่า แบบเบื้องต้นได้ข้อสรุปไปแล้ว ซึ่งบีทีเอสเสนอขอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติก่อนแต่ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจะเร่งทำแบบรายละเอียดการปรับปรุงสถานีสะพานตากสิน (S6) และวางรถไฟฟ้าบีทีเอสให้เป็นทางคู่เพื่อนำมาเสนอโดยเร็ว

ทั้งนี้ ประมาณการค่าปรับปรุงสถานี S6 เกือบ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากจะต้องดำเนินการขยายสะพานสาทรก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการจราจรบนสะพานสาทร จากนั้นจะสามารถดำเนินการวางรางรถไฟฟ้าเพิ่มได้ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปีครึ่ง ดังนั้น ในการดำเนินการทั้งหมดจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรบนสะพานสาทรและการให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

สำหรับการปรับปรุงสถานีสะพานตากสิน (S6) เพื่อทำเป็นรถไฟทางคู่นั้น ในการวางรางรถไฟเพิ่มจะต้องขยายชานชาลาเพิ่มออกมาด้วย ซึ่งจะเกินเข้าไปในพื้นที่สะพานตากสิน 1 ช่องจราจรด้านในเป็นระยะทางยาวประมาณ 250 เมตร ทำให้ช่องจราจรด้านในของสะพานตากสินทั้งสองฝั่งไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้น งานที่จะเริ่มก่อนการขยายสะพานฝั่งด้านแม่น้ำออกไป 1 ช่องจราจรเพื่อทดแทนช่องจราจรที่ใช้ไม่ได้ ทำให้สะพานตากสินยังมี 3 ช่องจราจรเท่าเดิม จากนั้นจึงจะปิดจราจรช่องในสุดเพื่อกันพื้นที่สำหรับโครงสร้างของรถไฟฟ้าที่จะลอยอยู่เหนือสะพานตากสินโดยไม่มีการทุบสะพานตากสินแต่อย่างใด

สำหรับโครงสร้างส่วนที่รองรับรางรถไฟนั้น บีทีเอสจะออกแบบเชื่อมจากโครงสร้างรถไฟฟ้าปัจจุบัน ส่วนเสาเข็มใหม่ที่จะรองรับการขยายสะพานตากสิน 1 ช่องจราจรนั้นตอม่อจะอยู่ใกล้กับตอม่อสะพานเดิมบริเวณสวนสาธารณะตรงเชิงลาดของสะพาน โดยออกแบบให้ลาดเอียงออกมารับพื้นสะพาน 1 ช่องจราจรที่จะขยายออกด้านข้างเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ด้านล่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น