กรมทางหลวงชนบทเปิดถนนเข้าเขื่อนรัชชประภา พร้อมเส้นทางจักรยาน ระยะทาง 9.590 กม. งบประมาณกว่า 152 ล้าน ขานรับนโยบายรัฐบาลเปิดเส้นทางเข้าแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ และเดินหน้าพัฒนาถนนพร้อมเส้นทางจักรยานบนเกาะพะงันกว่า 60 กม.
วันนี้ (24 มิ.ย. 60) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดถนนทางหลวงชนบทเข้าเขื่อนรัชชประภา สาย สฎ.3062 แยกทางหลวงหมายเลข 401-เขื่อนรัชชประภา อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมเปิดทางจักรยาน ณ บริเวณถนนสายดังกล่าว โดยมีนายอวยชัย อินทร์นาค ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวต้อนรับ มีนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะผู้บริหาร สื่อมวลชน ผู้แทนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน ทั้งนี้ นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมนำเยี่ยมชมนิทรรศการของถนนสายดังกล่าว จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมร่วมเป็นเกียรตินำคณะผู้บริหารปั่นจักรยานเข้าเขื่อนรัชชประภาอีกด้วย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีทัศนียภาพที่สวยงาม เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง รวมทั้งยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น อุทยานแห่งชาติเขาสก น้ำตกธารสวรรค์ ถ้ำทะลุ ถ้ำขมิ้น ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก กรมทางหลวงชนบทจึงได้ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สฎ.3062 แยกทางหลวงหมายเลข 401-เขื่อนรัชชประภา อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมก่อสร้างทางจักรยาน
ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย ส่งเสริมการใช้จักรยานให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางได้อย่างสะดวก รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนทางด้านธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น พัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล
ปัจจุบันเขื่อนรัชชประภามีนักท่องเที่ยวประมาณ 3 แสนคน/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ กรมทางหลวงชนบทยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงข่ายเส้นทางบนเกาะพะงัน ระยะทาง 66 กม. ภายในปี 2565 ซึ่งกำลังดำเนินการประมาณ 20 กม. โดยมีเส้นทางจักรยานด้วย
“รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเส้นทางที่เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว และมีความสวยงาม ให้พิจารณาทำเส้นทางจักรยานไปพร้อมกัน เพื่อสร้างนักท่องเที่ยวอีกกลุ่มคือนักปั่นจักรยาน หากสามารถสร้างเส้นทางที่มีมาตรฐานความปลอดภัยจะดึงดูดนักปั่นจากทั่วโลกเข้ามาได้ ปัจจุบันพื้นที่ถนนของไทยยังมีข้อจำกัด เริ่มต้นทำเป็นทางเท้า และใช้ร่วมกับทางจักรยานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งกรมทางหลวงชนบทได้สนองนโยบายนี้”
นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ถนนสาย สฎ.3062 มีระยะทางรวม 9.590 กิโลเมตร แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 เริ่มต้นก่อสร้างที่ กม.1+600 ไปสิ้นสุดการก่อสร้างที่ กม.9+590 ระยะทาง 7.990 กิโลเมตร ซึ่งก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแบบแอสฟัลต์คอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมก่อสร้างทางจักรยาน ปรับปรุงภูมิทัศน์ และติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจรสิ่งอำนวยความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 113.800 ล้านบาท
สำหรับตอนที่ 2 เริ่มต้นก่อสร้าง กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 1+600 ระยะทาง 1.600 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนเป็นผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร และติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เครื่องหมายจราจรสิ่งอำนวยความปลอดภัย โดยใช้งบประมาณก่อสร้าง 38.483 ล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 2 ตอนเมื่อเดือนมีนาคม 2560