xs
xsm
sm
md
lg

“อาคารศาลาไทย” โชว์ศักยภาพ เสร็จประเทศแรก Astana Expo 2017

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยโชว์ศักยภาพร่วมเปิดฉากงาน Astana Expo 2017 แสดงความพร้อมเหนือต่างชาติก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นประเทศแรก ตั้งเป้าขึ้นแท่นไฮไลต์สำคัญสุดของงาน พร้อมได้รับเลือกเป็นพาวิเลียนหลักรับสื่อทั่วโลก มั่นใจอาคารศาลาไทยติดอันดับพาวิเลียนที่มีผู้เข้าชมสูงสุด ขณะที่ประเทศต่างๆ เข้าร่วมแสดงโชว์ในงานจะร่วมทยอยการเปิดพาวิเลียนตามมา เหตุเพราะติดเงื่อนไขและข้อกำหนดทำให้การดำเนินงานล่าช้ากว่าที่กำหนด

พลเอก สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การจัดงานนิทรรศการโลก Astana Expo 2017 หรืองาน International Recognized Exhibition งานมหกรรมนานาชาติของมวลมนุษยชาติ ณ กรุงอัสตานา สาธารณรัฐคาซัคสถาน จัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “พลังงานแห่งอนาคต (Future Energy)” มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 115 ประเทศ และกว่า 20 องค์กรระหว่างประเทศบนพื้นที่ 1,740,000 ตารางเมตร (1,087.5ไร่) ซึ่ง “อาคารศาลาไทย” (Thailand pavilion) ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นประเทศแรก พร้อมเปิดให้นานาชาติเข้าร่วมชมเต็มรูปแบบตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มั่นใจว่าตลอดการจัดงาน 3 เดือน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน ถึงวันที่ 10 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา อาคารศาลาไทยจะเป็นหนึ่งในพาวิเลียนยอดนิยม และมีผู้เข้าร่วมชมจากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 5 แสนคน

การเข้าร่วมงานนิทรรศการโลก Astana Expo 2017 ถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้ใช้เวทีแสดงออกถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยต่อทั่วโลก ซึ่งจะช่วยสร้างประโยชน์แก่ประเทศไทยทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว การเผยแพร่วัฒนธรรม การนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย รวมทั้งยังกระชับความสัมพันธ์กับหลากหลายประเทศ โดยเฉพาะสาธารณรัฐคาซัคสถานและประเทศในแถบ CIS พร้อมกันนี้ยังเป็นการเผยแพร่ให้เห็นถึงนโยบายด้านพลังงานทดแทนของไทยต่อนานาชาติให้เห็นถึงผลงานการพัฒนาพลังงานทดแทนของรัฐบาลไทย การใช้และการผลิตพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจากผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นการช่วยยกระดับราคาสินค้าทางการเกษตรและเกิดการพัฒนาพลังงานที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ของชุมชน

นอกจากนี้ ยังสอดรับการแสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในที่ประชุม COP21 ที่กรุงปารีส เมื่อปี พ.ศ. 2558 โดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะร่วมผลักดันให้เกิดข้อตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ โดยไทยจะจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 ภายในปี 2030 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนอีกด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากแผนการพัฒนาพลังงานของไทย หรือ PDP 2015 ได้กำหนดที่จะให้มีการใช้พลังงานทดแทนที่มาจากฟอสซิล (Fossil) ถึง 30% ภายในปี 2579 นับว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อเจตนารมณ์ของโลกอย่างแท้จริง

ด้านนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า “อาคารศาลาไทย” (Thailand Pavilion) ตั้งอยู่ภายในอาคารที่ประเทศเจ้าภาพจัดไว้ให้บนพื้นที่ 974.67 ตารางเมตร ประกอบด้วยส่วนแสดงนิทรรศการชั้น 1 ขนาด 740.3 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ ชั้น 2 ขนาด 234.37 เมตร ซึ่งในปีนี้สร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด “การพัฒนาด้านพลังงานชีวภาพเพื่อมนุษยชาติ (Bioenergy for All)” เพื่อแสดงศักยภาพอันโดดเด่นในการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติของไทยที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพและความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทน

การนำเสนอจะใช้รูปแบบ “EDUTAINMENT” หรือการเรียนรู้ ควบคู่ความสนุกผ่าน 3 ห้องนิทรรศการหลักในชั้นที่ 1 ได้แก่
นิทรรศการห้องที่ 1 : Our Ways, Our Thai สัมผัสวิถีความเป็นไทย เอกลักษณ์ความงดงามของธรรมชาติ และวัฒนธรรม ควบคู่กับการพัฒนาด้านพลังงานทดแทน นำเสนอในรูปแบบของ Live Exhibition ควบคู่กับการจัดแสดง และสาธิตทางวัฒนธรรมไทย ที่จะมีการสลับสับเปลี่ยนการแสดงตลอดระยะเวลาการจัดงาน
นิทรรศการห้องที่ 2 : Farming the Future Energy เป็นห้องสรุปเรื่องราวแนวคิดของ อาคารศาลาไทยในรูปแบบเทคนิค 4D ภาพยนตร์ 3 มิติที่จะบอกเล่าเรื่องราวพลังงานของไทย และพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระองค์ผู้ทรงเป็น “พระบิดาแห่งการพัฒนาพลังงานไทย” โดยภาพยนตร์นี้จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวในห้องทดลองสุดมหัศจรรย์ที่จะเป็นจุดกำเนิดของพลังงานแห่งอนาคต ซึ่งจะผนวกกับ 1 มิติเพลิดเพลินไปกับหุ่นยนต์ Animatronic น้อง ‘พลัง’
ในส่วนนิทรรศการห้องที่ 3 : Energy Creation Lab เป็นการนำเสนอพลังงานชีวภาพ และชีวมวลจากพลังงาน 9 ชนิด ประกอบด้วย พลังงานจากพืช พลังงานและมูลสัตว์/น้ำเสีย ได้แก่ อ้อย ยูคาลิปตัส ยางพารา หญ้าโตเร็ว ข้าว ข้าวโพด มูลสัตว์ ของเสีย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมันในรูปแบบ Interactive Exhibition ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีการสาธิต และจัดแสดงสินค้าหัตถกรรมจากท้องถิ่นไทย การท่องเที่ยว และข้อมูลการค้าการลงทุนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เข้าร่วมในงาน

สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการชั้นที่ 2 เปิดให้ผู้เข้าชมเลือกซื้อสินค้า อาหารไทย เครื่องดื่ม และทดลองรับนวดแผนไทย พร้อมกันนี้ยังเปิดพื้นที่สำหรับภาคธุรกิจไทยผ่านการจับคู่ธุรกิจ Business Matching และ Investment Clinic ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้นำคณะนักธุรกิจจากไทย จำนวน 20 ราย เข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ Business Matching ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งการจัดแสดงผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารฮาลาล

ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรม ได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ สำนักสังคีต กรมศิลปากร และคณะนาฏยศาลาหุ่นละครเล็ก (โจหลุยส์) นำการแสดงทางวัฒนธรรมไปร่วมโชว์บนเวทีกลาง จำนวน 26 ชุดการแสดง ได้แก่ การแสดงโขน ตอน พระรามรบทศกัณฑ์, การแสดงดาบ 2 มือ, การรำมโนราห์ การฟ้อนต่างๆ เป็นต้น พร้อมทั้งการสาธิตทำเครื่องแต่งกายและนุ่งห่มแบบไทย การสาธิตหุ่นกระบอก และหุ่นละครเล็ก เป็นต้น ขณะที่กรมการพัฒนาชุมชนจัดให้มีการสาธิตหัตถกรรมไทยและการแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ (OTOP), การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจัดให้มีการสาธิตการเพนต์ร่ม การแกะสลักผลไม้ และการนวดแผนไทย เป็นต้น

จากการสังเกตการณ์ของประเทศผู้เข้าร่วมงานกว่า 115 ประเทศ ปรากฏว่าประเทศที่มีความพร้อมในการเปิดงานครั้งนี้มีประมาณ 40 ประเทศ ส่วนที่เหลือยังทยอยทำการก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งยังขาดความพร้อมในการเปิดงานให้ทันตามกำหนด ซึ่งคาดว่าติดปัญหาและอุปสรรคเงื่อนไขในการดำเนินงานบางอย่าง เนื่องจากสาธารณรัฐคาซัคสถานมีกฎระเบียบต่างๆ มาก ทำให้ผู้เข้าร่วมงานยังไม่สามารถดำเนินการให้ทันตามกำหนดการได้

ขณะที่เส้นทางคมนาคมทางอากาศซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาร่วมงานก็ยังดำเนินการอยู่ ในส่วนของอาคารสนามบิน ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างและคาดว่าจะแล้วเสร็จเพื่อรองรับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวที่สนใจจะเดินทางเข้ามาร่วมงานในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเปิดพาวิเลียนครบสมบูรณ์ 115 ประเทศจะต้องใช้ระยะเวลาอีกกว่า 1 เดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และรองรับนักธุรกิจที่สนใจจะเข้าร่วมงานครั้งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น