xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เสริมความรู้ทำธุรกิจให้นักกายภาพบำบัด ดันออกไปเปิดคลินิกให้บริการประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” จับมือ “มหิดล-เกษมบัณฑิต” ผลักดัน “นักกายภาพบำบัด” ออกไปเปิดคลินิกทำธุรกิจเหมือนแพทย์สาขาวิชาชีพอื่น เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนไปใช้บริการแทนที่จะต้องวิ่งเข้าโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว มั่นใจช่วยดันไทยเป็นฮับทางการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และเชิงสุขภาพได้แน่

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าดำเนินการร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ในการส่งเสริมและพัฒนานักกายภาพบำบัดให้ออกไปทำธุรกิจ โดยใช้เวลาว่างหลังเลิกงานหรือใช้วันหยุดมาทำงานให้กับธุรกิจของตัวเอง เพื่อสร้างคุณค่าของวิชาชีพให้เป็นที่ยอมรับและมีศักดิ์ศรีเหมือนกับแพทย์แขนงอื่นๆ ที่ได้ใช้เวลาว่างออกมาเปิดคลินิกหรือเปิดบริษัททำธุรกิจเหมือนกับหมอฟัน หรือหมอรักษาคนไข้ทั่วไป

ทั้งนี้ การผลักดันให้นักกายภาพบำบัดหันมาทำธุรกิจหรือขยายธุรกิจ ยังเป็นการช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น เพราะจากเดิมจะต้องเดินทางไปยังโรงพยาบาล แต่หากมีคลินิกเฉพาะด้าน ก็สามารถไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาล และยังเป็นการรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาปวดเมื่อยหรือมีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อก็จะสามารถเข้าไปใช้บริการได้เลย

ขณะเดียวกัน หากธุรกิจด้านนี้ของไทยมีการพัฒนาก็จะช่วยส่งเสริมให้นโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชีย (Medical Hub of Asia) และศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) ของโลกเกิดได้เร็วขึ้น

นายสนธิรัตน์กล่าวว่า ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้จัดโครงการฝึกอบรมนักกายภาพบำบัดแล้ว มีผู้เข้าร่วมกว่า 60 คน โดยจะทำการฝึกอบรมคนเหล่านี้ให้มีความรู้ในการทำธุรกิจ เริ่มตั้งแต่การจัดตั้งบริษัท การเขียนแผนธุรกิจ การวางแผนการทำตลาด กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ การวางแผนทางการเงิน การเสียภาษี และหากต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้นักกายภาพบำบัดมีความรู้และนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจให้ถูกต้อง และโปร่งใส

ปัจจุบันบุคลากรด้านกายภาพบำบัดที่ทำงานในโรงพยาบาล 170 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนประมาณ 7,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อ 10,000 ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากเทียบกับสัดส่วนของประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีสัดส่วนเท่ากับ 1 ต่อ 5,000 จึงเห็นได้ว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านกายภาพบำบัดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากสามารถผลักดันให้นักกายภาพบำบัดออกไปทำธุรกิจก็จะทำให้สัดส่วนนักกายภาพต่อประชากรมีสัดส่วนน้อยลงได้
กำลังโหลดความคิดเห็น