xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพแรงงาน CAT ร้องผู้ตรวจฯ สอบนโยบายแก้ปมตั้งบริษัทลูก หวั่นเข้าทางเอกชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ CAT ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบนโยบายแก้ไขปัญหาการจัดตั้งบริษัทลูกของ CAT และ TOT อ้างหวั่นทรัพย์สินสมบัติชาติอาจตกไปอยู่ในมือเอกชน

วันนี้ (13 มิ.ย.) นายสังวรณ์ พุ่มเทียน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และคณะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบนโยบายการแก้ไขปัญหา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ในการจัดตั้งบริษัทลูก โดยอ้างเหตุเพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน แต่สร้างปัญหาระยะยาวให้กับบริษัท CAT

โดยนายสังวรณ์กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการจัดตั้งบริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์ จำกัด (NBN Co) และบริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (NGDC Co) โดยมีรูปแบบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการค้าส่งโครงข่ายและโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมภายในประเทศ ถือครองทรัพย์สินประเภทโครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณโครงข่ายสายตอนนอก เคเบิลใยแก้วนำแสง ซึ่งในวันนี้ (13 มิ.ย.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) นำเสนอให้ ครม.เห็นชอบหลักการในการจัดตั้งบริษัทลูกดังกล่าว ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนในการประเมินทรัพย์สินที่จะนำเข้าไปยังบริษัทลูกในการดำเนินการทางธุรกิจ และยังไม่มีความชัดเจนในด้านปริมาณ ราคา และระยะเวลาในการซื้อบริการของ CAT และ TOT รวมถึงยังไม่มีความชัดเจนในโครงสร้างองค์กร การบริหารงานบุคคล อัตรากำลัง และผลตอบแทนที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การที่อ้างว่าการตั้งบริษัทลูกเพื่อแก้ปัญหาการซ้ำซ้อนของ CAT และ TOT เห็นว่ากระทรวง DE ไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ความต้องการผู้บริโภค และความมั่นคงของประเทศ เพราะจะทำให้ปัญหาในการบริหารจัดการเพิ่มขึ้น

“ความไม่ชัดเจนในหลายประเด็น หากเร่งดำเนินการจะทำให้การจัดตั้งของ 2 บริษัท เกิดความเลี่ยงในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ CAT และ TOT ที่เป็นบริษัทแม่ ซึ่งหากบริษัทแม่ขาดทุน ก็ต้องลดราคาสินค้าให้ถูกลง เพื่อให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนซื้อสินค้าในราคาถูก โดยตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท CAT และ TOT มีเคเบิลใยแก้วใต้น้ำ ซึ่งเอกชนไม่มี หากเอกชนเข้ามาร่วมทุน สุดท้ายแล้วทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของชาติก็จะตกไปอยู่ในมือเอกชน” นายสังวรณ์กล่าว



กำลังโหลดความคิดเห็น