“พาณิชย์” เดินหน้าดึงนักลงทุนเข้าไปลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เหตุสามารถใช้เป็นท่าเรือบกส่งออกสินค้าไปขายยัง สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม จนถึงจีนตอนใต้ และยังสามารถขนส่งสินค้าผ่านเส้น EWEC ไปถึงพม่าและอินเดีย รวมทั้งสามารถโชว์ความเป็นศูนย์กลางดึงลงทุนเชื่อมนโยบายวันเบลวันโรดของจีน
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการเปิดงาน “มุกดาหาร : ท่าเรือบก ประตูตะวันออกสู่อาเซียนพลัส” ว่ากระทรวงพาณิชย์มีแผนในการผลักดันให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เพราะสามารถใช้มุกดาหารเป็นท่าเรือบกหรือประตูการค้าส่งออกไปยังตลาดในประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันออก ได้แก่ สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไปถึงจีนตอนใต้ได้ โดยมีต้นทุนลอจิสติกส์ต่ำกว่าการส่งออกจากฐานการผลิตในที่อื่นซึ่งจะทำให้สินค้ามีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้าของคู่แข่ง
โดยสินค้าไทยที่มีศักยภาพสูงที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค วัสดุก่อสร้าง และสินค้าปัจจัยการผลิตเพื่อป้อนให้แก่อุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ขณะนี้ในประเทศเพื่อนบ้านมีการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ผ้าผืน เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นต้น และในทางกลับกัน นักลงทุนไทยสามารถใช้วัตถุดิบราคาถูกจากประเทศเพื่อนบ้านมาผลิตเพื่อส่งออกได้ด้วย
นอกจากนี้ การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ไม่เพียงแต่จะส่งออกไปยังอาเซียนด้านตะวันออก แต่สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) โดยเริ่มจากดานัง เวียดนาม ผ่านสะหวันเขตของ สปป.ลาว ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 ข้ามมายังมุกดาหาร และผ่าน จ.ตาก ไปเมืองเมาะละแหม่งของพม่า โดยใช้เวลาเดินทาง 3 วัน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยประหยัดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่ง และยังเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งไปได้ถึงจีนตอนใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียได้อีกด้วย
“นักลงทุนที่มาลงทุนในมุกดาหารสามารถใช้มุกดาหารเป็นท่าเรือบกไปสู่ตลาด สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ และยังสามารถเชื่อมกับนโยบาย One Belt One Road ของจีนที่จะเชื่อมโยงจีนกับอีก 64 ประเทศทั่วโลก ทั้งทางบก ทะเล โดยไทยมีความได้เปรียบที่เป็นศูนย์กลางที่เชื่อมต่อกันได้ทางถนน เพราะเชื่อมระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) ซึ่งต้องผ่านไทย ทำให้ไทยเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน และยังเชื่อมต่อกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดข้างเคียง ทั้งนครพนม หนองคาย เขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน และยาวถึงระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)” นายวินิจฉัยกล่าว
นายสรสิทธิ์ ฤทธิ์สรไกร ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า ปีนี้มุกดาหารได้รับงบประมาณเพื่อตอบสนองด้านการขนส่งไปสู่อาเซียนตะวันออกหลายโครงการ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงขนาด 4 ช่องจราจร (แนวใหม่) สาย บ.นาไคร้-อ.คำชะอี (ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 2,400 ล้านบาท, โครงการพัฒนาทางหลวงเพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทางหลวงหมายเลข 212 อ.หว้านใหญ่-อ.ธาตุพนม (ทางหลวง) วงเงินค่าก่อสร้างรวม 1,046 ล้านบาท และยังมีโครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งได้ผ่านการ ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) มาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2559 และกระทรวงคมนาคมจะเสนอ ครม.ให้พิจารณาในเดือน มิ.ย. 2560 โดยยังไม่รวมโครงการเพื่อส่งเสริมการขนส่งขนาดเล็กอื่นๆ และโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่มีอีกหลายโครงการ ซึ่งทั้งหมดจะช่วยทำให้มุกดาหารเป็นท่าเรือบกตามแผนยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้