“กรอ.” เผยสถิติการยื่นขอตั้งและขยายโรงงานปี 2559 รวม 5,215 โรงงาน เงินลงทุน 4.78 แสนล้านบาท พบอุตสาหกรรมยานยนต์และอุปกรณ์ลงทุนสูงสุดกว่า 7 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเอกชนขานรับลงทุนกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท
นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ.ได้รวบรวมสถิติการยื่นขอประกอบกิจการโรงานใหม่และขยายกิจการโรงงาน (รง.4) ปี 2559 (ม.ค.-ธ.ค. 59) ว่า มีการยื่นขอรวมทั้งปีจำนวน 5,215 โรงงาน เงินลงทุน 4.78 แสนล้านบาท แบ่งเป็นประกอบกิจการ 4,363 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 3.10 แสนล้านบาท และขยายกิจการมีจำนวน 852 โรงงาน มูลค่าการลงทุน 1.68 แสนล้านบาท
สำหรับ 5 อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุดในช่วง 12 เดือนของปี 59 ได้แก่ 1. ยานยนต์และอุปกรณ์ 70,481 ล้านบาท 2. อุตสาหกรรมอาหาร 66,182 ล้านบาท 3. อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 29,531 ล้านบาท 4. อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 25,159 ล้านบาท และ 5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ23,076 ตามลำดับ รวมเม็ดเงินการลงทุนกว่า 2.14 แสนล้านบาท
ส่วนการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายถือว่าผู้ประกอบการให้การตอบรับอย่างดี โดยเห็นได้จากมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการขยายกิจการโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 36 โรงงาน มูลค่าลงทุน 47,541 ล้านบาท อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร จำนวน235 โรงงาน เงินลงทุน 32,356 ล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 43 โรงงาน เงินลงทุน 13,314 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ จำนวน 5 โรงงาน เงินลงทุน 6,161 ล้านบาท อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ จำนวน 5 โรงงาน เงินลงทุน 1,304 ล้านบาท
อุตสาหกรรมเกษตรเทคโนชีวภาพ จำนวน 8 โรงงาน เงินลงทุน 1,132 ล้านบาท อุตสาหกรรมดิจิตอล จำนวน 1 โรงงาน เงินลงทุน 1,098 ล้านบาท อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และแขนกล จำนวน 16 โรงงาน เงินลงทุน 562 ล้านบาท อุตสาหกรรมท่องเที่ยวสุขภาพ จำนวน 5 โรงงาน เงินลงทุน 198 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอากาศและการบิน จำนวน 1 โรงงาน 169 ล้านบาท รวมเงินลงทุนกว่า 103,835 ล้านบาท โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะเร่งผลักดันในการประกอบกิจการและขยายกิจการโรงงานในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นศักยภาพที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้น เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกให้มาลงทุน
สำหรับในปี 2560 กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้ายกระดับภาคอุตสาหกรรมผ่านแนวคิด “WORK SMART” ในหลากหลายมิติ อาทิ การอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในทุกขั้นตอนของการอนุญาตตั้งธุรกิจ ทั้งการลดระยะเวลายื่นคำขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน เพิ่มระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์อำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เช่น ระบบจัดการวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ระบบการติดตามการดำเนินงานอนุญาตโรงงาน วัตถุอันตราย และเครื่องจักร ระบบรายงานปริมาณสารมลพิษน้ำและมลพิษอากาศ เป็นต้น