“วัดอู่ทรายคำ” กรณีตัวอย่างจุดเริ่มประเด็น “โรงแรมวัด” สร้างอาคารค้ำหอไตรไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี สู่การผลักดันให้คณะสงฆ์เชียงใหม่ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา การออกแบบ การก่อสร้าง หรือการใช้ประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่วัดอย่างเหมาะสม สืบสานมรดกวัฒนธรรม
“วัดอู่ทรายคำ” ตำบลช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นชื่อวัดที่เป็นที่รู้จักทั่วไปทั้งสำหรับชาวเชียงใหม่ และทั่วประทศขึ้นมาทันที หลังจากที่ในช่วงกลางปี 2559 กลายประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เมื่อโครงการก่อสร้างอาคาร 4 ชั้น ของวัดที่ดำเนินการก่อสร้างขึ้นโครงสร้างเป็นรูปเป็นร่างแล้ว ถูกตั้งข้อสงสัยจากชุมชนรอบข้างเกี่ยวต่อความเหมาะสม เนื่องจากทำการก่อสร้างขึ้นประชิดและสูงหอไตรไม้ศิลปะล้านนาดั้งเดิมของวัดที่มีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี ขณะเดียวกัน ยังถูกตั้งประเด็นเคลือบแคลงสงสัยด้วยว่า อาคารที่กำลังก่อสร้างนั้นจะใช้ประโยชน์เพี่อการใดกันแน่
ทั้งนี้ เพราะอาคาร 3 ชั้น ที่มีอยู่เดิมที่วัดอ้างว่าเป็น “ที่พักอาคันตุกะสงฆ์” ทว่า ในโซเชียลมีเดีย กลับพบว่า มีผู้คนจำนวนมากที่เคยเข้าพักในอาคารดังกล่าว แล้วโพสต์ข้อความพร้อมภาพถ่ายชื่นชม และแสดงความประทับใจ ทั้งความสะดวกสบาย และบริการที่ได้รับจากการเข้าพัก ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ที่โพสต์กลับเป็นคนทั่วไปที่เป็นนักท่องเที่ยว มากกว่าที่จะเป็นพระสงฆ์สามเณร ในลักษณะของโรงแรมที่พักของฆราวาสที่มาท่องเที่ยว มากกว่าพระสงฆ์สามเณรที่มาปฏิบัติศาสนกิจ จึงเกรงว่าอาคารใหม่ที่ก่อสร้างอาจจะตั้งใจสร้างขึ้นเสมือนการขยายกิจการของบริการดังกล่าวก็เป็นได้
หลังจากที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์ขึ้นมา ทางวัดได้พยายามชี้แจง และปฏิเสธข้อเคลือบแคลงดังกล่าว ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างอาคารนั้นอ้างว่า ได้ทำการยื่นหนังสือขออนุญาตก่อสร้างต่อเทศบาลนครเชียงใหม่แล้ว ขณะที่ประเด็นการเปิดบริการที่พักสำหรับประชาชนทั่วไป และนักท่องเที่ยว อ้างว่า ไม่เป็นความจริง เช่นเดียวกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่ ที่เข้าตรวจสอบ และช่วยยืนยันในเรื่องนี้
ขณะที่ต่อมา เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ออกมาชี้แจงว่า วัดมีการยื่นขออนุญาตก่อสร้างจริงช่วงเดือนเมษายน 2559 ซึ่งแบบแปลนที่ทางวัดอู่ทรายคำ ยื่นขออนุญาตก่อสร้างนั้น เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้น สูง 12 เมตร ตามแบบมีลักษณะเป็นห้องพักเดี่ยว แต่ละห้องมีขนาดกว้างประมาณ 3.8 เมตร ยาว 5 เมตร รวมทั้งหมด 19 ห้อง ซึ่งทุกห้องมีห้องน้ำในตัว ขัดแย้งกับข้อมูลที่ทางที่ปรึกษาวัดอู่ทรายคำ ชี้แจงระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างใหม่ออกแบบเป็นห้องพักรวม 40 เตียง และห้องน้ำก็เป็นห้องน้ำรวม เพื่อให้เป็นกุฏิใหม่สำหรับพระสงฆ์ของวัด ที่มีจำวัดอยู่ทั้งหมด 6 รูป และขยายการรองรับพระสงฆ์จากต่างจังหวัด หรือต่างประเทศเพิ่มเติมจากอาคารเดิมที่มีห้องพัก 11 ห้อง
อย่างไรก็ตาม แบบแปลนดังกล่าวยังไม่ได้รับการอนุญาต เพราะตามแบบไม่ได้มีการเว้นระยะห่างจากจุดกึ่งกลางถนน 6 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด กระทั่งกลางเดือนสิงหาคม 2559 ได้รับการร้องเรียนว่า วัดได้เริ่มทำการก่อสร้างไปแล้ว จึงเข้าตรวจสอบ และสั่งระงับการก่อสร้าง ซึ่งได้แจ้งให้วัดปรับแบบ และยื่นขออนุญาตใหม่ โดยแนวทางแก้ไขเป็นไปได้ทั้งการรื้ออาคารบางส่วนออกไป หรือลดความสูงของอาคารลงเหลือ 2 ชั้น กระทั่งเวลานี้แม้วัดจะยุติการก่อสร้างไปแล้ว แต่ยังไม่มีการปรับแบบ และยื่นขออนุญาตใหม่แต่อย่างใด
ด้านสำนักศิลปากรที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่วัดอู่ทรายคำ เพื่อเข้าทำการสำรวจ และตรวจสอบหอไตรไม้ของวัดที่มีอายุกว่าร้อยปี ซึ่งเบื้องต้นพบว่า หอไตรไม้ดังกล่าวเป็นศิลปะแบบล้านนา อายุน่าจะอยู่ในเกณฑ์เกินกว่า 100 ปี ซึ่งถือว่าเข้าลักษณะในการที่จะประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน แต่ที่ผ่านมา ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีด้านกว้าง และยาวประมาณ 5.5 เมตร ความสูงจากพื้นถึงปลายยอดประมาณ 10 เมตร ขณะที่อาคารของวัดที่กำลังทำการก่อสร้างขึ้นใหม่มีการเว้นระยะห่างจากหอไตรเพียง 2.15 เมตร เท่านั้น
ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนโบราณสถานได้นั้นมีด้วยกัน 2 ลักษณะ คือ โบราณสถานร้าง ซึ่งทางกรมศิลปากร สามารถลงพื้นที่เข้าไปเก็บข้อมูลรายละเอียดทำทะเบียนข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้ และโบราณสถานที่อยู่ในที่ที่มีเจ้าของครอบครอง ซึ่งกรมศิลปากร จะต้องได้มีการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่ามีคุณค่ามากเพียงพอที่จะเป็นสมบัติของประเทศชาติจึงขอขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน โดยต้องได้รับความเห็นชอบยินยอมจากเจ้าของผู้ครอบครองด้วย ซึ่งหากไม่เห็นชอบก็จะต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป โดยทั้ง 2 ลักษณะจะต้องมีคณะกรรมการพิจารณาก่อนที่จะขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมศิลปากรเสียก่อน
สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของวัดอู่ทรายคำนั้น พบว่า ในส่วนของอาคารที่ก่อสร้างใหม่ได้ยุติการก่อสร้างไปได้ระยะเวลาหนึ่งแล้ว และยังไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งการจะก่อสร้างต่อ หรือการรื้อถอน ส่วนอาคารเดิมสูง 3 ชั้น ที่ระบุว่าเป็น “ที่พักอาคันตุกะสงฆ์” ปัจจุบันถูกปิดเงียบ แตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้ที่ยังไม่ตกเป็นที่จับจ้องจากสังคมเกี่ยวกับการเปิดบริการคล้ายที่พักโรงแรม ซึ่งว่ากันว่าแต่ละวันมีคนเข้าคนออกไม่ขาดสาย
ขณะที่เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ที่ร่วมกับชุมชนในการตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประเด็นนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่าวัดต่างๆ อาจจะมีการเลียนแบบในการใช้พื้นที่ของวัดเปิดบริการที่พักคล้ายโรงแรม หรือทำการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ของวัดอย่างขาดความรอบคอบ ซึ่งอาจจะกระทบต่อความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของล้านนา ได้มีการผลักดันนำเสนอแนวคิดต่อคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในอนาคตควรจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะสงฆ์ ชุมชน และผู้เชี่ยวชาญ ขึ้นมาเป็นที่ปรึกษา
โดยที่คณะกรรมการดังกล่าวนี้จะทำหน้าที่ในการพิจารณาช่วยกันคิดช่วยกันทำ และความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อให้การออกแบบ การก่อสร้าง หรือการใช้ประโยชน์ใดๆ ในพื้นที่วัดเป็นไปอย่างเหมาะสม สอดคล้องต่อความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมของล้านนา
เบื้องต้นพบว่า พระเทพปริยัติ เจ้าอาวาสวัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) และเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เห็นพ้องด้วยต่อแนวคิดนี้ และน่าจะมีการพิจารณาจนได้ข้อสรุปเป็นที่ชัดเจนในเร็ววันนี้ ซึ่งน่าจะมีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยให้วัดต่างๆ ในเชียงใหม่ ที่ถือเป็นแหล่งสำคัญที่รวบรวมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของล้านนาไว้อย่างมากมาย สามารถรักษา สืบสาน และส่งต่อมรดกเหล่านี้สู่คนรุ่นต่อๆ ไปได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
อย่างน้อยก็หวังว่าจะไม่เกิดกรณีนำอาคารของวัดไปใช้ประโยชน์เปิดบริการที่พักคล้ายโรงแรมให้แก่นักท่องเที่ยวที่เป็นฆราวาสอย่างไม่เหมาะสม หรือการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ที่กระทบต่อความเชื่อความศรัทธาของผู้คน โดยมี “วัดอู่ทรายคำ” เป็นกรณีตัวอย่าง