การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีครั้งล่าสุด เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีนายทหารใหม่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียว แต่มีรัฐมนตรีหน้าใหม่หลายคนมาจากภาคเอกชน และล้วนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจ และหนึ่งในนั้นก็คือ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” ที่ได้รับโอกาสเข้ามานั่งเก้าอี้ รมช.พาณิชย์
ทั้งนี้ นายสนธิรัตน์เป็นหนึ่งในทีมงานด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสมคิดต้องการให้นายสนธิรัตน์เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานราก และ SMEs เพื่อผลักดันให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตามโจทย์ของรัฐบาล
“ผู้จัดการรายวัน 360” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นายสนธิรัตน์ ซึ่งนายสนธิรัตน์ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในภาคธุรกิจ เรื่อยมาจนเข้ามาสู่วงการการเมือง จนกระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมช.พาณิชย์ โดยติดตามได้ในบทสัมภาษณ์ต่อจากนี้
ช่วยแนะนำตัวหน่อยว่าเป็นใครมาจากไหน
ผมเป็น SMEs มาทั้งชีวิต เป็นผู้ประกอบการมาโดยตลอด ถ้าเป็นธุรกิจก็มีความหลากหลาย เป็นทั้งเทรดดิ้ง เป็นลูกจ้าง เป็นเจ้าของ เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สมัยน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี) มียอดขายปีละเป็นพันล้านบาท จนปี 2540 มันเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ตายกันเรียบ ก็เลยเกิดจุดเปลี่ยนมาทำสกินแคร์ และช่วยโรงพยาบาลยันฮีปรับโครงสร้างธุรกิจ ช่วยพลิกยันฮีเป็นยันฮีจนทุกวันนี้
ช่วงเข้าสู่ธุรกิจสกินแคร์ทำสมุนไพรส่งไปนอก และยังเข้าสู่ธุรกิจขายตรง เป็นเจ้าของ MLM เดอะไรท์ พาวเวอร์ มียอดขายเป็นพันล้านอีกเช่นเดียวกัน แล้วจากนั้นมาทำบริษัทเทคโนแก๊ส เป็นแบรนด์เครื่องครัวชั้นนำจากอิตาลี ถือเป็นธุรกิจสุดท้ายที่ทำ ต่อมาได้เข้ามาทำงานบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ช่วยสร้างอาชีพให้กับชุมชน ที่เป็นแนวคิดส่วนหนึ่งของนโยบายประชารัฐในการดึงเอกชนมาแมชชิ่งกับชุมชน และยังได้ทำงานกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ถือว่าเข้าใจธุรกิจ เข้าใจชุมชน
จากนั้นเมื่อเกิด สปช. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ก็สมัครไปเป็น สปช.ด้านสังคม เป็นจุดเริ่มต้นที่เข้าสู่การเมือง ได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนสารพัดเรื่องที่เกี่ยวกับด้านสังคม พอหมดวาระ สปช.ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาที่กระทรวงอุตสาหกรรม และยังเป็นสภาที่ปรึกษาปฏิรูปประเทศด้วย และตอนปรับ ครม.ครั้งล่าสุดครั้งนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รมช.พาณิชย์
“ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักธุรกิจ ทำงานเพื่อสังคม ทำงานเพื่อชุมชน ช่วยวางแผนปฏิรูปประเทศ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานในด้านการส่งเสริมและพัฒนา SMEs ก่อนที่จะมาเป็นรัฐมนตรี” นายสนธิรัตน์เล่าถึงที่มาที่ไป
ได้รับการมอบหมายงานอะไรบ้าง
ผมได้รับการแบ่งงานจาก รมว.พาณิชย์ (นางอภิรดี ตันตราภรณ์) ให้ดูแลงานด้านการค้าภายในประเทศเป็นหลัก ได้ดูแล 3 กรม คือ กรมการค้าภายใน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา เป็นงานเดิมที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์คนก่อนดูแล แต่ที่แตกต่างก็คือ ได้รับมอบหมายให้ดูงานพาณิชย์จังหวัดด้วย เพื่อให้การทำงานที่อยู่ในภารกิจการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศมีการขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง
แผนการทำงานจะมุ่งไปทางไหนก่อน
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต้องเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ต้องพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้มแข็ง เพราะตอนที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการจากทุกจังหวัด ได้เข้าไปช่วยงานด้าน SMEs เป็นบอร์ด สสว. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) พอมาอยู่ที่พาณิชย์ก็สามารถต่อยอดงานเดิมได้เลย แต่บทบาทพาณิชย์เป็นปลายน้ำของ SMEs ด้านตลาด แต่เป็นส่วนสำคัญ ซึ่งได้วางแผนในการพัฒนาปลายน้ำ และเชื่อมต่อไปยังต้นน้ำของกระทรวงอุตสาหกรรม และกลางน้ำของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“ที่ผมเข้ามาทำงานตรงนี้ จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีแผนที่จะจัดหน่วยงานที่ดูแล SMEs แบบบูรณาการการทำงานร่วมกัน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ต้องไปด้วยกัน ในต่างประเทศเขาไม่แยกกัน แต่ของไทยแยกกัน ต้องทำให้มันคู่กัน เหมือนไก่กับไข่ ผมจะหารือกับรัฐมนตรีอุตสาหกรรมว่าจะทำงานร่วมกันยังไง และถอยไปถึง สสว. ที่จะเพิ่มบทบาทในการบูรณาการแผนงาน ยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน วัดผล เป็นเป้าหมายในการพัฒนางานด้าน SMEs”
ส่วนงานของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นการพัฒนาที่ปลายทาง เป็นเรื่องด้านตลาด ก็ต้องผลักดันให้แผนงานด้านการตลาดมีความเข้มข้นเพื่อช่วย SMEs เติบโต
มีแผนที่จะช่วย SMEs อะไรอีก
ที่ผ่านมาเคยถาม SMEs ว่ามีปัญหาอะไร ครึ่งหนึ่งของ SMEs ทั้งระบบมีปัญหาเรื่องเงิน ถัดมาเป็นเรื่อง การตลาด นั่นแสดงว่าปัญหา 2 ตัวใหญ่ของ SMEs ก็คือ เรื่องเงิน และเรื่องตลาด ซึ่งเรื่องเงิน ตอนนี้มีกลไกที่จะเข้ามาช่วยเหลือมากมาย ส่วนเรื่องตลาด เดิมเราผลักเข้าไปขายในห้าง ในร้านต่างๆ แต่วันนี้มีกลไกใหม่ๆ มีอี-คอมเมิร์ซ ถือเป็นจุดเปลี่ยนในการส่งเสริม SMEs ให้มีโอกาสในการขายได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมองแค่ตลาดในประเทศเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองตลาดไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน ต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย SMEs ไทยออกไปลงทุน ออกไปค้าขายในประเทศเพื่อนบ้านที่มองว่ามีโอกาส เพราะตอนนี้ โลกทั้งโลกเชื่อมโยงกันหมด ส่วนเราจะต้องเข้าไปช่วยค้นหาสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ให้ได้ อย่างเช่นสินค้าเกษตร เป็นสินค้าอัตลักษณ์ได้ เพราะเราเป็นแหล่งอุปทานของโลก ถือเป็นทุนทางวัฒนธรรม แค่เพิ่มนวัตกรรมเข้าไปก็เพิ่มมูลค่าได้
แล้วงานดูแลผู้บริโภคจะทำอย่างไร
แผนดูแลผู้บริโภค พาณิชย์มีกลไกดูแลอยู่แล้ว เรื่องแรกราคาที่เป็นธรรม จะต้องดูว่าสอดคล้องกับต้นทุนหรือไม่ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นกระทบต้นทุนสินค้าเท่าไร ต้องแยกแยะ วิเคราะห์ออกมาให้หมด ก็จะดูได้ว่าต้นทุนกระทบไม่กระทบ ส่วนการติดตามดูแลราคาสินค้า มีมาตรการดูแลอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำคือ จะติดตาม ตรวจสอบอย่างใกล้ชิด
อีกเรื่อง เท่าที่ตรวจสอบดู หมู ไก่ ไม่ได้แพงขึ้นเลยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ส่วนผัก ราคาขึ้นอยู่กับฤดูกาล แล้วที่คนรู้สึกว่าแพงขึ้นอาจจะมีปัจจัยมาจากสาเหตุอื่น เช่น เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ลด ก็เลยรู้สึกว่าของแพง จนลงของก็แพง ถ้ามีเงินมากก็จะรู้สึกว่าของไม่แพง หรือถ้าของชิ้นนี้อยากได้แม้แพงก็จะคิดว่าไม่แพง แต่ถ้าไม่อยากได้ยังไงก็แพง ดังนั้น ของจะแพง ไม่แพง อาจจะมีสาเหตุมาจากอย่างอื่นก็ได้
สำหรับร้านหนูณิชย์พาชิม ต้องเดินหน้าต่อ เป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารจานด่วนราคาไม่เกิน 35 บาท แต่ถ้าเป็นร้านพิเศษ ร้านอาหารคุณภาพจะให้ราคาเท่ากันคงไม่ได้ เพราะวัตถุดิบใช้ของดี หมักมา 7 ขั้นตอน บริการดี จะให้ขายถูกแบบนี้อันแฟร์ แต่ที่สำคัญเราจะติดตามดูแลให้มีการปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ในการตัดสินใจบริโภค
ด้านสินค้าเกษตรจะบริหารจัดการวิธีไหน
สินค้าเกษตรยังไงก็เป็นปัญหาเพราะเป็นสินค้าตามฤดูกาล เน่าเสียได้ง่าย แต่ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ ได้เตรียมมาตรการรับมือล่วงหน้า ซึ่งที่ได้ทำไปแล้วก็คือ มันสำปะหลัง มีการดึงให้ผู้ใช้มาทำข้อตกลงกับเกษตรกรเพื่อรับซื้อมันสำปะหลัง เป็นการจับคู่กัน ต่อไปจะทำทุกสินค้าเกษตร แล้วต่อไปจะผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ในการยืดอายุสินค้าเกษตร อย่างหัวหอม ของไทยเก็บได้ 3 เดือน ของเมืองนอกเก็บได้ 6 เดือน ต้องคุย สวทช.ให้หาวิธีเก็บผลผลิตให้ได้ 6 เดือน ถ้าทำได้มีโอกาสดูแลราคาได้ดีขึ้น สินค้าเกษตรต้องเอาเทคโนโลยีมาช่วย
นอกจากนี้ต้องเริ่มวางแผนบริหารซัปพลาย เพราะที่ผ่านมาปลูกจนผลผลิตล้นตลาด ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็มีการวางแผนแล้ว แต่มันเป็นเรื่องที่พูดง่าย ทำยาก ก็ต้องพยายามที่จะผลักดัน อะไรที่ปลูกแล้วราคาไม่ดีก็ต้องหันไปปลูกพืชชนิดอื่น ถ้าบริหารจัดการตรงนี้ได้จะช่วยผลักดันราคาสินค้าเกษตรได้อีกมา