รองเลขาธิการและโฆษก สคบ.แถลงยันขายข้าวออนไลน์ทำได้ ไม่เข้าข่ายขายตรงและตลาดแบบตรง ยังไม่ถกเพจ “ทนายคู่ใจ” โพสต์เข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์หรือไม่ สำหรับผู้ประกอบการยังไม่จดทะเบียน ต้องจด E-Commerce ควบคู่ แต่กรณีชาวนาไม่ต้องจดทะเบียน ขอให้สบายใจได้
วันนี้ (31 ต.ค.) นายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แถลงกรณีเฟซบุ๊กเพจ “ทนายคู่ใจ” เตือนชาวนาขายข้าวออนไลน์ผิด พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมแนะนำให้ชาวนาไปเสียเงินจดทะเบียนต่อ สคบ.แต่ละจังหวัดว่า สคบ.ในฐานะผู้กำกับดูแลกฎหมายดังกล่าวตรวจสอบแล้ว ขอเรียนว่าการที่เกษตรกรขายข้าวออนไลน์นั้นไม่เข้าข่ายเป็นการขายตรงและตลาดแบบตรง ไม่จำเป็นต้องมาจดทะเบียนแต่อย่างใด และไม่มีความผิดตามกฎหมาย อีกทั้งการจดทะเบียนต่อ สคบ.นั้นไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการมายื่น สคบ.เพื่อออกใบอนุญาตให้เท่านั้น ทั้งนี้ สคบ.ยินดีให้ความร่วมมือและส่งเสริมการค้าให้เป็นไปอย่างมั่นคงตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นายพิฆเนศกล่าวว่า การดูว่าจะเข้าข่ายหรือไม่อยู่ที่เจตนาประกอบธุรกิจ โดยการตลาดแบบตรง คือ การที่เจ้าของสินค้านำเสนอสินค้าผ่านสื่อต่างๆ ไปยังผู้บริโภค ซึ่งมีข้อความที่บ่งบอกลักษณะสินค้าโดยละเอียด พร้อมทั้งมีช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถตอบสั่งซื้อสินค้าได้โดยตรงทันที ไม่ต้องสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ขายสินค้าอย่าง Lazada ส่วนการขายตรงจะมี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ผู้ขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระ และผู้บริโภค ที่ต้องจดทะเบียนพร้อมทั้งทำแผนการจ่ายผลตอบแทน จากการตรวจสอบแล้วชาวนาที่ขายข้าวออนไลน์ไม่ได้ทำในเชิงธุรกิจ ไม่เข้าข่ายลักษณะการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ส่วนถ้าจะทำเป็นเชิงธุรกิจนั้น จะต้องมาจดทะเบียนที่สำนักงาน สคบ. อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น 5 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาฯ กรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว ไม่มี สคบ.จังหวัด ซึ่งทาง สคบ.จะอำนวยความสะดวกให้ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดได้ทางสายด่วนหมายเลข 1166
“การมายื่นจดทะเบียนนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นการแสดงตนว่าได้รับการรับรองจากรัฐแล้ว กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อควบคุมจำกัดการทำธุรกิจ แต่เป็นการส่งเสริมการทำธุรกิจให้ได้รับความเชื่อถือจากรัฐ เพื่อไม่ให้คนไม่ดีมาสร้างความไม่เป็นธรรม เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการตรวจสอบจากภาครัฐ และหากมีปัญหาข้อบกพร่องก็สามารถร้องเรียนได้” นายพิฆเนศกล่าว
เมื่อถามว่า การที่เพจทนายคู่ใจออกมาโพสต์ข้อความดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หรือไม่ และทาง สคบ.จะดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่อย่างไร นายพิฆเนศกล่าวว่า ทาง สคบ.ยังไม่คิดว่าจะเข้าข่ายหรือไม่ ต้องมีการปรึกษาหารือกันอีกครั้ง
ด้านนายสุวิทย์ วิจิตรโสภา ผู้อำนวยการสำนักแผนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคและรองโฆษก สคบ.กล่าวว่า การตลาดแบบตรงมีหลักการคือต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจ และผู้บริโภคสามารถตอบตกลงซื้อผ่านสื่อได้ โดยไม่ต้องไปดูตัวสินค้าและสถานที่จำหน่าย ที่ผ่านมา สคบ.รับจดทะเบียนสื่อเว็บไซต์เป็นหลัก หากเข้าข่ายแล้วไม่มาจดทะเบียนจึงมีความผิด ทุกวันนี้มีการตลาดแบบตรงเป็นจำนวนมากก็ขอให้มาจดทะเบียน สำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่จดทะเบียน หากเป็นการขายสินค้าออนไลน์ต้องไปจดทะเบียน E-Commerce กับกระทรวงพาณิชย์ควบคู่ไปด้วย แต่กรณีชาวนานั้นชัดเจนแล้วว่าไม่ต้องจดทะเบียน ขอให้สบายใจได้
รายงานเพิ่มเติมว่า สำนักงาน สคบ.ยังได้ออกเอกสารข่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำนิยามตามมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 บัญญัติว่า การทำตลาดขายสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทาง และมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ความจริงการขายในลักษณะนี้ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าการขายแบบออนไลน์ ผู้ขายต้องให้ข้อมูลผู้บริโภคหรือคนที่เห็นสื่อนั้นๆ สามารถตัดสินใจสั่งซื้อได้เลย โดยที่ไม่ต้องไปหาข้อมูลอื่นๆ อีก เพื่อประกอบการตัดสินใจในการที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ ถ้าหากผู้ขายให้ข้อมูลผู้บริโภคไม่ครบถ้วนและทำให้ไม่สามารถตัดสินใจซื้อได้ หรือทั้งสองฝ่ายังคงต้องไปตกลงกันเกี่ยวกับเงื่อนไขการซื้อขาย ถือว่าสัญญายังไม่เกิดบนสื่อ สัญญาไปเกิดขึ้นภายหลัง แบบนี้ไม่ถือว่าเป็นการขายที่เข้าข่ายตลาดแบบตรงตาม พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง และการที่ชาวนาโพสต์ขายข้าว เห็นว่าไม่มีลักษณะและเจตนาที่จะประกอบธุรกิจอย่างจริงจัง เป็นเพียงแค่การหาช่องทางระบายข้าวแบบเป็นครั้งคราว