“สศอ.” เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 59 ขยายตัว 3.8% พุ่งสุดรอบ 43 เดือน คาด MPI ทั้งปีโต 0.5% ตามคาดหมาย ขณะที่ปี 2560 คาด MPI อยู่ที่ 0.5-1.5% GDP ภาคอุตสาหกรรมโตเฉลี่ย 1-2% หลังแนวโน้มปัจจัยบวกเพียบ ทั้งแรงซื้อในประเทศเริ่มกระเตื้องจากราคาสินค้าเกษตร บาทอ่อนหนุนส่งออก
นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 59 อยู่ที่ 109.61 ขยายตัว 3.8% สูงสุดในรอบ 43 เดือน (3 ปี 7 เดือน) นับตั้งแต่ปี 2555 ส่งผลให้ MPI 11 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัว 0.4% ทำให้คาดการณ์ว่าทั้งปี 2559 MPI จะอยู่ที่ 0.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 0.9% และจากค่าดัชนีฯ ดังกล่าวทำให้ สศอ.คาดการณ์ว่า MPI ในปี 2560 เฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.5-1.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1-2%
“MPI ปี 2559 เดิมเราประเมินว่าจะโต 1-2% และ GDP จะโต 1.5-2.5% แต่ช่วง 6 เดือนแรกค่อนข้างต่ำจึงทำการปรับเป้าลดลงมา ซึ่งทั้งปีก็มั่นใจว่าจะเป็นไปตามเป้าMPI โต 0.5% GDP อุตสาหกรรมโต 0.9% แต่ในปี 2560 มีหลายปัจจัยที่มีทิศทางจะเป็นบวกจึงมั่นใจว่าจะดีกว่าปีนี้แน่นอน โดยคาดว่า MPI ปี 2560 จะอยู่ที่ 0.5-1.5%” นายวีรศักดิ์กล่าว
สำหรับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พ.ย. 59 ที่ปรับเพิ่มสูงสุดรอบ 43 เดือนมาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือน พ.ย. 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 19.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า พ.ย. 59 ขยายตัว 2.81% และอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการขยายตัว 10.22% เป็นต้น
ส่วนปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรมปี 2560 ขยายตัวมากกว่าในปีนี้ ได้แก่ ยอดจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการภายในประเทศน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะยางพารา อ้อย ทำให้แรงซื้อภาคเกษตรกรจะกลับมาฟื้นตัวได้ดี โดยจะเห็นว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์เริ่มขยับขึ้นต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีนี้และคาดว่าจะต่อเนื่องถึงปีหน้า
นอกจากนี้ การส่งออกอาหารโดยเฉพาะไก่แช่แข็ง จะมีปริมาณเพิ่มหลังจากที่เกาหลีใต้อนุญาตให้มีการนำเข้าจากไทยหลังจากยุตินำเข้าจากปัญหาไข้หวัดนกมาเป็นเวลานาน ประกอบกับขณะนี้เกาหลี ญี่ปุ่น และจีนประสบปัญหาไข้หวัดนกระบาดทำให้ความต้องการไก่จะเพิ่มขึ้นอีก ขณะเดียวกัน การส่งออกกุ้งของไทยจะเพิ่มขึ้นหลังจากที่แก้ไขปัญหากุ้งตายด่วน ขณะเดียวกันค่าเงินบาทของไทยที่มีแนวโน้มอ่อนค่าจะทำให้สนับสนุนการส่งออกที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับด้านนโยบายจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนจะมีส่วนสำคัญต่อการผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้เติบโต เช่น การก่อสร้าง เหล็ก พลาสติก ฯลฯ
“ปัจจัยบวกในปีหน้าภาพรวมมีมากกว่าปัจจัยลบ โดยปัจจัยลบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ต้องจับตาโดยเฉพาะการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปหรือBrexit ของอังกฤษ การเปลี่ยนผู้นำของประเทศในแถบยุโรปหลายแห่ง เช่น เยอรมนี อิตาลี ฯลฯ” นายวีรศักดิ์กล่าว