ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเผยการลงทุนเปิดโรงงาน-ขยายโรงงาน 10 เดือนแรกโต สะท้อนความเชื่อมั่นภาคเอกชน ขณะที่ยอดขอจดทะเบียนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และชิ้นส่วนยานยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวเพิ่ม คาดปี 59 เศรษฐกิจไทยโตเพิ่ม 3.5%
นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานในช่วง 10 เดือนแรกปี 2559 ว่า น่าพอใจและถือเป็นระดับปกติของการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาท่ามกลางสถานการณ์ส่งออกของประเทศที่ติดลบประมาณร้อยละ 1 ซึ่งเป็นข้อมูลจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า สถิติการขอประกอบการโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 มีเอกชนแจ้งเริ่มประกอบการใหม่และขยายโรงงานรวมทั้งสิ้น 3,559 โรงงาน วงเงินลงทุนรวม 363,770.87 ล้านบาท ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจของประเทศ และก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 125,373 คน
ทั้งนี้ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการประกอบการใหม่รวม 3,126 โรงงาน วงเงินลงทุน 258,121.58 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 78,081 คน และขยายโรงงาน 433 โรงงาน วงเงินลงทุน 105,649.28 ล้านบาท เกิดการจ้างงาน 47, 292 คน ขณะที่ยอดขอจดทะเบียนใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ภาพรวมยอมรับว่าลดลงจริง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น โดยยอดขอจดทะเบียนขยายตัวมากขึ้น ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การลงทุนเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานจริงๆ ที่ปีนี้น่าพอใจไม่ลดน้อยไปกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนอีก 2 เดือนที่เหลือจะต้องติดตามต่อไป
ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปีนี้ (MPI) จะขยายตัวร้อยละ 0.5-1.0 โดยภาคอุตสาหกรรมปัจจุบันมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 อย่างไรก็ตาม ปีนี้ยังคงห่วงภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้ากลุ่มอาหารที่ยอดส่งออกลดลง แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่มียอดส่งออกสูงขึ้นบ้างคือ ยานยนต์ ซึ่งยอดขายในประเทศสูงขึ้นในรอบหลายเดือน ทั้งปีคาดว่ายอดขายในประเทศจะสูงกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 1 การส่งออกรถยนต์ปีนี้น่าจะส่งออกได้ 1.22 ล้านคัน ยอดผลิตน่าจะใกล้เคียง 1.9-2 ล้านคัน ซึ่งเป็นลักษณะการขยายตัวปกติของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่แล้ว ต่างจากช่วงมาตรการรถยนต์คันแรกที่ยอดผลิตและจำหน่ายรถยนต์สูงผิดปกติ
ทั้งนี้ ปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มดีกว่าปีนี้ขยายตัวสูงกว่าร้อยละ 3.5 โดยเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในช่วง 3 เดือนข้างหน้ายังดีกว่าปัจจุบัน รวมถึงการตัดสินใจลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอย่างรวดเร็ว ซึ่งโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคเหล่านี้จะช่วยเพิ่มยอดการใช้เหล็ก วัสดุก่อสร้าง และชนิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ก็ย่อมที่จะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนสูงนี้เข้าไปมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ ประกอบกับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้เพิ่มขึ้นได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *