xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ชี้ดัชนีผลผลิตภาคอุตฯ 10 เดือนแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 0.1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรกของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 65.4 โดยอุตสาหกรรมเป็นบวก เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และเส้นใยประดิษฐ์ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน แนวโน้มปี 2560 คาดว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้น การลงทุนภาครัฐขยายตัวจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรกของปี 2559 มีการขยายตัวร้อยละ 0.1 ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในภาพรวมของเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2559 เป็นบวก ได้แก่ เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ และเส้นใยประดิษฐ์ น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน

ทั้งนี้ การผลิตเดือนตุลาคม 2559 เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.90 ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการผลิตสบู่ เคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาดและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับประทินร่างกาย และสินค้าของไทยมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น ส่วนน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจาก น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และแก๊สโซฮอล์ 95 เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทำให้มีการบริโภคน้ำมันมากขึ้น

สำหรับ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการเร่งผลิตเครื่องปรับอากาศรุ่นที่ใช้สารทำความเย็น R22 ก่อนจะถูกยกเลิกในปี 2560 และเปลี่ยนใช้สาร R32 แทน ส่วนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากกลุ่มสินค้า Other IC เป็นผลจากคำสั่งซื้อของกลุ่มยานยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์แสดงผล และชิ้นส่วนอุปกรณ์เพาเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น

ส่วน เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การผลิตเดือนตุลาคม 2559 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อน และปัจจัยเรื่องราคาที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดเหล็กจากจีน ทำให้ผู้ผลิตเริ่มมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 39.15 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและขนาด ซึ่งปีนี้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าที่ผลิตยากหรือมีขนาดใหญ่ทำให้ปริมาณการผลิตลดลง ประกอบกับผู้ว่าจ้างได้ปรับมาตรฐานคุณภาพของสินค้าสูงขึ้น และน้ำมันพืช การผลิตเดือนตุลาคมลดลงร้อยละ 14.57 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัญหาภัยแล้งในปี 2558 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2559 ทำให้ผลผลิตลดลง สินค้าออกสู่ตลาดน้อยและบางพื้นที่ขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปี 2560 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลก รายจ่ายการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นโดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และการดำเนินงานภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC)

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น