"พาณิชย์"รณรงค์ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม ประสานสถานทูตทั่วโลกปิดป้ายรณรงค์ Stop Fake เตือนนักท่องเที่ยวที่จะมาไทยอย่าซื้ออย่าใช้ของปลอม เผยยังปิดป้ายที่สนามบิน ทางด่วน BTSและ MRT ด้วย รุกต่อจัดการพ่อค้าแม่ค้าขายของปลอมบนเฟซบุ๊ก เผยจับได้เมื่อไร ส่งรายชื่อสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีทันที
นายทศพล ทังสุบุตร รองอธิบดีรักษาการอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดทำแผนในการรณรงค์ สร้างความตระหนัก และเคารพสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ผ่านโครงการ "ไม่ซื้อ ไม่ขาย ไม่ใช้ของปลอม" โดยในปี 2560 มีแผนที่จะประสานขอความร่วมมือไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อปิดป้าย หรือข้อความรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่ขอวีซ่าเพื่อเดินทางมายังประเทศไทย ตระหนักถึงการไม่ซื้อ ไม่ใช้ของปลอม ในช่วงที่เดินทางมาประเทศไทย
"จะเป็นการรณรงค์ตั้งแต่ช่วงต้นทางเลยว่าถ้ามาเที่ยวเมืองไทย อย่าซื้อ อย่าใช้ของปลอม เราจะใช้แคมเปญ Stop Fake บอกกับนักท่องเที่ยว เพราะไทยไม่สนับสนุนให้มีการค้าขายสินค้าปลอม และหากไม่มีคนซื้อ สินค้าปลอมก็จะขายไม่ได้"
นอกจากนี้ ยังได้มีการรณรงค์ต่อเนื่องที่สนามบิน เมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก็จะได้เห็นป้ายรณรงค์ ซึ่งมีทั้งแผ่นป้าย ป้ายดิจิตอล และยังมีป้ายในลักษณะเดียวกันนี้ที่บิลบอร์ดบนทางด่วน สถานีรถไฟฟ้า BTS และ MTR มีทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย เพราะเป็นการรณรงค์สร้างความตระหนักทั้งคนไทยและคนต่างชาติ
นายทศพลกล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการปราบปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก และวิดีโอถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊ก ไลฟ์ ล่าสุดกรมฯ ได้ขอร่วมมือกับเจ้าของสิทธิ์ในการส่งรายงาน (รีพอร์ต) ไปยังเฟซบุ๊กเพื่อแจ้งบัญชีที่มีการขายสินค้าละเมิด ซึ่งทางสำนักงานเพซบุ๊กสาขาสิงคโปร์ได้แจ้งว่าพร้อมที่จะช่วยดูแลให้ และได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินการตรวจสอบและจับกุมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการเข้าจับกุมและดำเนินคดีไปแล้วหลายราย
"เมื่อจับกุมได้แล้ว กรมฯ จะส่งรายชื่อพ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าละเมิดไปให้กรมสรรพากร เพื่อตรวจสอบรายได้และการเสียภาษี เพราะคนเหล่านี้ ไม่มีการเสียภาษีที่ถูกต้อง โดยคนที่มีรายชื่อที่ถูกแจ้งไว้แล้ว ก็จะมีการตรวจสอบและติดตามอย่างต่อเนื่อง"นายทศพลกล่าว
นายทศพลกล่าวว่า ทางด้านการปราบปรามการจำหน่ายสินค้าละเมิดที่ยังมีการวางจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดต่างๆ กรมฯ ได้มีหนังสือส่งไปยังพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศแล้ว เพื่อให้ช่วยแจ้งไปยังพ่อค้าแม่ค้าที่ยังมีการจำหน่ายสินค้าละเมิดอยู่ให้ยุติการจำหน่าย เพราะจากนี้ไป กรมฯ จะร่วมมือกับเจ้าของสิทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ลงพื้นที่ตรวจจับอย่างต่อเนื่อง เพราะถือว่าได้มีการตักเตือนแล้ว
ส่วนการจำหน่ายสินค้าละเมิดทางเว็บไซต์ ได้มีการร่วมมือกับเจ้าของสิทธิ์ในการติดตามและตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง หากพบเจอ ก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อทำการจับกุมต่อไป รวมทั้งจะขอศาลให้สั่งปิดเว็บไซต์ดังกล่าวด้วย แต่หลังจากที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำ มีผลบังคับใช้ ก็จะเข้ามาปิดช่องว่างในการปิดเว็บไซต์ที่ขายสินค้าละเมิด โดยสามารถขอให้สั่งปิดเว็บไซต์ได้ทันที จากเดิมที่ต้องขออำนาจจากศาลก่อน