xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทตั้งใหม่เดือนพ.ย. 5,799 ราย เพิ่ม 28% หลังร้านทองแห่จดเพิ่ม คาดยอดทั้งปีทะลุ 6.3-6.5 หมื่นราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กรมพัฒน์ฯ”เผยยอดจดตั้งบริษัทใหม่เดือนพ.ย. 5,799 ราย เพิ่มขึ้น 28% เหตุร้านทองแห่จดเพิ่ม หลังรัฐสนับสนุนให้เข้าสู่ระบบ ส่วนยอดจดเลิกลด 12% มั่นใจทั้งปีทำได้เกินเป้า 6.3-6.5 หมื่นราย

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนพ.ย.2559 มีจำนวน 5,799 ราย เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีจำนวน 5,092 ราย เพิ่มขึ้น 707 ราย หรือเพิ่มขึ้น 14% และเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2558 ซึ่งมีจำนวน 4,520 ราย เพิ่มขึ้น 1,279 ราย หรือเพิ่มขึ้น 28% ส่วนสถิติการจดเลิกเดือนพ.ย.2559 มีจำนวน 2,397 ราย เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีจำนวนเลิก 1,588 ราย เพิ่มขึ้น 809 ราย หรือเพิ่มขึ้น 51% และเมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2558 ที่มีจำนวน 2,722 ราย ลดลง 325 ราย หรือลดลง 12%

สาเหตุที่เดือนพ.ย.มีการจดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการจดทะเบียนธุรกิจร้านทองเพิ่มขึ้น หลังจากที่รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริมให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะจะได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีมากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยยอดจดตั้งใหม่ 5 อันดับแรก พบว่า การจดธุรกิจขายปลีกเครื่องประดับสูงสุดเป็นอันดับแรก 803 ราย รองลงมา คือ ก่อสร้างอาคารทั่วไป 649 ราย อสังหาริมทรัพย์ 351 ราย ภัตตาคารและร้านอาหาร 120 ราย ให้คำปรึกษาด้านการจัดการ 115 ราย

ส่วนสาเหตุที่จดเลิก ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไม่มีการประกอบการ โดยมีธุรกิจที่จดเลิกมากที่สุด คือ ธุรกิจค้าสลาก

“ผ่านมา 11 เดือน ยอดจดตั้งบริษัทใหม่ทำได้สูงถึง 59,878 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5% โดยมั่นใจว่ายอดจดตั้งใหม่ทั้งปีจะทำได้ถึง 6.3-6.5 หมื่นราย สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 6 หมื่นราย เพราะแนวโน้มธุรกิจจดตั้งใหม่จะเพิ่มขึ้น ทั้งการผลักดันให้ร้านทอง ร้านขายยา มาจดทะเบียนนิติบุคคล รวมถึงยังมีธุรกิจที่ตั้งใหม่ เพื่อรองรับมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐด้านโครงการพื้นฐานคมนาคม การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว”น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น 1,355,900 ราย มูลค่าจดทะเบียน 40.42 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 646,460 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 15.77 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 466,230 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,152 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 179,078 ราย

น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวอีกว่า กรมฯ ยังได้ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ สร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการ โดยนำมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม (TFRS for SMEs) มาใช้ในการจัดทำงบการเงินสำหรับรอบปีบัญชี 2561 เป็นต้นไป เพื่อช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งในการทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมา SMEs มีจุดอ่อนด้านการจัดทำรายงานทางการเงินและระบบบัญชีที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้การประกอบธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จ

“การทำงบการเงินที่เป็นไปตามมาตรฐาน จะช่วยให้ SMEs มีความเข้มแข็งในการประกอบธุรกิจ ได้รับความเชื่อมั่นจากสถาบันการเงิน ในกรณีที่ต้องการแหล่งเงินทุนเพื่อมาขยายธุรกิจ ได้รับความเชื่อถือจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในการเข้ามาทำธุรกิจด้วย และยังมีโอกาสเติบโตโดยการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ด้วย”น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น