“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” แจงผลการจดทะเบียนธุรกิจ เดือนตุลาคม 2559 มีจำนวน 5,092 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ย. 59 จำนวน 984 ราย และลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 139 ราย คิดเป็น 3% ส่วนนิติบุคคลที่เลิก กิจการเดือน ต.ค. 59 จำนวน 1,588 ราย ลดลง เทียบเดือน ก.ย. 59 มี 261 ราย คิดเป็น 14% มูลค่าจดทะเบียน ต.ค. 59 จำนวน 14,720 ล้านบาท ลดลงเดือน ก.ย. 59 จำนวน 7,079 ล้านบาท ธุรกิจที่จดทะเบียนสูงสุด ก่อสร้าง และขายเครื่องประดับ
นสรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับมอบหมายจากนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงผลการจดทะเบียนธุรกิจและผลการให้บริการประจำเดือนตุลาคม 2559 พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,092 ราย เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา (ก.ย. 59) ซึ่งมีจำนวน 6,076 ราย โดยลดลง 984 ราย คิดเป็น 16% และใกล้เคียงกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ต.ค.58) ซึ่งมีจำนวน 5,231 ราย ลดลง 139 ราย คิดเป็น 3% สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกเดือนตุลาคม 2559 มีจำนวน 1,588 ราย ลดลงเมื่อเทียบกับกันยายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 1,849 ราย โดยลดลง 261 ราย คิดเป็น 14%
สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนตุลาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,720 ล้านบาท ลดลงจำนวน 7,709 ล้านบาท คิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2559 ซึ่งมีจำนวน 22,429 ล้านบาท และมีมูลค่าลดลงจำนวน 6,365 ล้านบาท คิดเป็น 30% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 21,085 ล้านบาท
โดยธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 563 ราย รองลงมา ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 388 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 291 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 148 ราย และธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 137 ราย ตามลำดับ
ทั้งนี้ ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 ต.ค. 59) จำนวน 1,350,101 ราย มูลค่า ทุนจดทะเบียนรวม 20.34 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 643,268 รายมูลค่าทุนจดทะเบียน 15.71 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 463,570 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,151 ราย และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 178,547 ราย
ส่วนของการคาดการณ์ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าในปี 2559 จะมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลใกล้เคียงกับปี 2558 คือ สูงเกิน 60,000 ราย เนื่องจากมาตรการส่งเสริมภาครัฐ ได้แก่ การให้ยกเว้นภาษีเงินได้ การคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลมากขึ้น นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนของภาครัฐ และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวรวมทั้งการฟื้นตัวของภาคการส่งออก จะเป็นปัจจัยที่ทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2559 อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามสถานการณ์การปรับลงของราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ในรอบหลายปี จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อภายในประเทศและมีผลกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *