xs
xsm
sm
md
lg

สร.กฟผ.ยื่นหนังสือ “อภิสิทธ์” จี้ ปชป.ทบทวนท่าทีค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สหภาพแรงงาน กฟผ. (สร.กฟผ.) ยื่นหนังสือถึงพรรคประชาธิปัตย์ขอให้ทบทวนท่าทีคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยขอให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก เหตุการนำเข้าแอลเอ็นจีเข้ามาแทนจะทำให้ต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น เหตุต้นทุนถ่านหินจะถูกกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี

วันนี้ (13 ธ.ค.) เวลา 09.00 น. นายประกอบ ปริมณ ประธานสหภาพแรงงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (สร.กฟผ.) เข้ายื่นหนังสือชี้แจงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ. ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ โดยในเนื้อหาระบุว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยขอให้ยกเลิกนโยบายการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและให้ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ทดแทน โดยอ้างเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการให้ข้อมูลด้านเดียวทำให้ประชาชนสับสน

ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงคือก๊าซแอลเอ็นจีมีต้นทุนสูงกว่าถ่านหิน โดยในปี 2559 ราคาสูงกว่า 20% และหากนำเข้าแอลเอ็นจีก็ต้องมีโครงการก่อสร้างท่อก๊าซขนส่งไปโรงไฟฟ้ามีผลกระทบสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอีกหลายปี ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้สูงขึ้นกำลังผลิตไม่เพียงพอ โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ได้ผ่านขั้นตอนต่างๆ และพร้อมจะเริ่มโครงการ

ดังนั้น สร.กฟผ.ขอให้พรรคประชาธิปัตย์ทบทวนท่าทีโดยให้คำนึงถึงความมั่นคง เสถียรภาพทางการจัดการเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตไฟฟ้า เพราะผู้รับภาระทั้งหมดคือภาคประชาชน โดย สร.กฟผ.ระบุด้วยว่ายืนหยัดบนความถูกต้องไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ใดๆ และพร้อมปกป้องต่อสู้เพื่อผลประโยชน์และความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าเพื่อประชาชนทุกระดับ

นายศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายที่เป็นข้อเท็จจริง แต่การพัฒนาโรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี 2015) เพื่อกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิง โดยโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564-2565 ซึ่งช่วงดังกล่าวจะมีการนำเข้าแอลเอ็นจีมาใช้ผลิตไฟฟ้าในปริมาณสูงมากและจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่าถ่านหินนำเข้า หากคิดที่โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ต้นทุนค่าไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะถูกกว่าประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น