xs
xsm
sm
md
lg

“กรมพัฒน์” ใช้โมเดล “อโกด้า” ปั้นธุรกิจใหม่ เปิดเวทีให้สตาร์ทอัพกับเอสเอมอีเชื่อมโยงเครือข่ายในการทำธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ใช้โมเดล “อโกด้า” เดินหน้าปั้นธุรกิจไทยเติบโต เตรียมเปิดเวทีเชื่อมโยงสตาร์ทอัพกับเอสเอมอี เพื่อร่วมมือกันทำธุรกิจ พร้อมดึงนักธุรกิจรุ่นใหม่มาช่วยอีกแรง ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ดันใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ    
       
น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ มีแผนที่จะใช้โมเดลการทำธุรกิจของอโกด้าดอตคอม ที่ได้ทำการรวบรวมโรงแรมต่างๆ ทั่วโลก แล้วมาเปิดให้ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศจองผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของตัวเอง โดยจะทำการผลักดันให้ธุรกิจรายใหม่ที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจ (สตาร์ทอัพ) นำโมเดลนี้ไปใช้ในการทำธุรกิจ เพราะสามารถขยายธุรกิจได้รวดเร็วมากกว่าที่จะทำเพียงคนเดียว ซึ่งในเร็วๆ นี้ กรมฯ จะทำการเชื่อมโยงระหว่างสตาร์ทอัพกับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอมอี) หรือเชื่อมเครือข่ายระหว่างเอสเอมอีกับเอสเอ็มอี เพื่อสร้างเครือข่ายการทำธุรกิจระหว่างกัน
      
ทั้งนี้ ในการทำธุรกิจในปัจจุบันโดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีรายใหม่ๆ ที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจอาจจะเติบโตได้ยาก หรือเติบโตได้ช้า เพราะไม่มีเครือข่ายในการทำธุรกิจ ถือเป็นจุดอ่อนอีกจุดหนึ่งของธุรกิจรายใหม่ แต่กรมฯ จะทำการปิดจุดอ่อนตรงนี้โดยจะทำการเชื่อมโยงและจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ (แมชชิ่ง) ระหว่างธุรกิจในลักษณะเดียวกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในการทำธุรกิจ
       
ยกตัวอย่างเช่น มีธุรกิจสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการจองรถขนส่งสินค้า โดยผู้ที่ต้องการว่าจ้างขนส่งสินค้า สามารถเข้าไปในแอปพลิเคชั่นแล้วทำการจองรถขนส่งสินค้าได้เลย แต่ปัญหาของสตาร์ทอัพรายนี้ คือ ขาดแคลนรถขนส่งสินค้า ซึ่งกรมฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือโดยทำการเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพได้พบปะกับผู้ให้บริการขนส่งและลอจิสติกส์ที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมฯ ทำให้สตาร์ทอัพรายนี้ในปัจจุบันมีเครือข่ายขนส่งสินค้าทั่วประเทศ และสามารถเติบโตได้เร็ว
        
สำหรับแนวทางการดำเนินการเชื่อมโยง กรมฯ จะนำสตาร์ทอัพที่ได้รับการฝึกอบรมหรือพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบมีรายชื่อประมาณ 300 ราย และจะนำมาแมตชิ่งกับเอสเอ็มอีที่มีอยู่ โดยจะทำการแบ่งแยกเป็นรายธุรกิจให้ชัดเจน เพื่อให้มีการเจรจาเพื่อร่วมมือกันทำธุรกิจ
        
นอกจากนี้จะทำการเชื่อมโยงนักธุรกิจที่ได้รับการฝึกอบรมจากโครงการต่างๆ เช่น โครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN D) หรือนักธุรกิจที่ได้รับการฝึกอบรมเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่จากสถาบันหรือหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาร่วมมือในการสร้างเครือข่ายด้วย ซึ่งมีทั้งการสร้างเครือข่ายการทำธุรกิจในประเทศ และขยายการทำธุรกิจออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม)   
        
น.ส.บรรจงจิตต์กล่าวว่า ในด้านการสนับสนุนด้านเงินทุน เพื่อให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีมีการขยายธุรกิจให้เติบโตได้เร็วขึ้น กรมฯ จะผลักดันให้ธุรกิจเหล่านี้เข้ามาใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ที่ธุรกิจสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ในกิจการมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน และยังจะจัดเวทีให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนได้พบปะพูดคุยกับสถาบันการเงินโดยตรงด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น