สอน.เจรจา 9 โรงงานขอลงนาม (MOU) ไม่รับเงินคืนค่ารักษาเสถียรภาพหลัง 4 รายประเดิมชนะคดีฟ้องร้อง หวั่นลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โตให้โรงงานที่เหลือ และชาวไร่อ้อยฟ้องเรียกคืนเงินด้วย เตรียมนัดหารือเคาะราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 หลังยังไม่ยุติ ส่วนค่าอ้อยขั้นต้นเคาะแล้ว 2 ราคา ที่ 1,050 บาทต่อตันใน 8 เขต และเขต 5 ราคา 980 บาทต่อตัน
นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สอน.ได้เจรจากับโรงงาน 9 แห่งได้แก่ บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลแม่วัง จำกัด บ.น้ำตาลท่ามะกา จำกัด บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลสุพรรณบุรี จำกัด บ.โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด บ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด บมจ.น้ำตาลขอนแก่น บ.อุตสาหกรรมน้ำตาลอุตรดิตถ์ จำกัด และ บ.น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ที่จะไม่รับเงินค่ารักษาเสถียรภาพคืนจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบได้เดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ 9 โรงงานได้ยื่นศาลปกครองกลางเพื่อขอความเป็นธรรมเนื่องจากมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ให้เรียกเก็บเงินรักษาเสถียรภาพที่เก็บทั้งชาวไร่และโรงงานในอัตรา 0.5% ของรายได้ แต่ฤดูการผลิตปี 2542/2543-ฤดูผลิต 2545/2546 โรงงานน้ำตาลส่วนใหญ่ไม่จ่ายเงินดังกล่าวเข้ากองทุนอ้อยฯ แต่ 9 โรงงานจ่ายจึงต้องขอความเป็นธรรม ต่อมาศาลปกครองกลางยกฟ้องทำให้ 9 โรงไปอุทธรณ์และศาลปกครองสูงสุดพิจารณาล่าสุดให้ 4 โรงงานชนะคดีโดยต้องคืนเงินต้นและดอกเบี้ยประมาณ 361 ล้านบาท และคาดว่าจะเป็นบรรทัดฐานให้อีก 5 โรงงานชนะคดีเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างการฟ้องร้องนั้นโรงงานที่เคยค้างชำระก็ได้ทยอยจ่ายจนหมด
“สอน. และกองทุนฯ เองได้เจรจาแล้ว โรงงาน 9 แห่งก็เห็นด้วยในหลักการที่จะไม่เอาเงินคืนเพียงแต่จะมีรายละเอียดในทางปฏิบัติเท่านั้นว่าจะคืนอย่างไร โดยอาจจะจ่ายแล้วก็ให้คืน หรือจะไม่รับเลยแต่ก็ต้องให้เป็นไปตามคำสั่งศาลฯ” นายสมศักดิ์กล่าว
สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นของฤดูการผลิตปี 2559/2560 บอร์ด กอน.เห็นชอบกำหนดราคาอ้อยเป็น 2 ราคา โดย 8 เขตราคา 1,050 บาทต่อตัน ส่วนเขต 5 (สุพรรณบุรี) อยู่ที่ 980 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าที่คณะกรรมการบริหาร (กบ.) ได้พิจารณาไว้เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่เอื้อให้เห็นว่าความเสี่ยงที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปี 59/60 จะต่ำกว่าขั้นต้นมีน้อยเพราะได้ทำการขายน้ำตาลล่วงหน้าไปมาก ค่าเงินบาทก็มีทิศทางอ่อนค่าลง ประกอบกับฤดูผลิตปีนี้ต้นทุนการผลิตของชาวไร่คำนวณไว้ที่ 1,086 บาทต่อตันซึ่งถือว่าต้นทุนสูง ซึ่งทุกปีรัฐจะช่วยเหลือด้วยการให้กองทุนอ้อยฯ กู้กับสถาบันการเงินของรัฐมาอุดหนุนราคาเพิ่ม แต่ปีนี้ไม่สามารถทำได้เพราะจะขัดหลักขององค์การการค้าโลก (WTO)
แหล่งข่าวจากชาวไร่อ้อยกล่าวว่า หากโรงงานที่เหลือฟ้องเรียกค่ารักษาเสถียรภาพชาวไร่ฯ ก็ฟ้องโรงงานได้เช่นกันเพราะเงินดังกล่าวมีสัดส่วนของชาวไร่อยู่ 70% ตามระบบแบ่งปันผลประโยชน์ และสัปดาห์หน้าคาดว่า สอน.จะเรียกหารือราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูการผลิตปี 2558/59 ที่ล่าสุดบอร์ด กอน.ยังไม่สามารถสรุปตัวเลขได้เนื่องจากต้องการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 57 ที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายสูงกว่าขั้นต้นจะต้องเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยฯ เพื่อสะสมไว้ดำเนินงานซึ่งได้กำหนดไว้ว่าจะหักไม่เกิน 25 บาทต่อตัน แต่ปรากฏว่าโรงงานน้ำตาลทรายไม่เห็นด้วยที่จะจ่ายในส่วนนี้ โดยระบุว่าเงินส่วนใหญ่ที่นำเข้าไปยังกองทุนฯ เป็นชาวไร่อ้อยที่ใช้จ่ายโดยเฉพาะการนำเงินไปใช้หนี้เงินกู้เพิ่มค่าอ้อย
“คาดว่าจะเร่งสรุปค่าอ้อยขั้นสุดท้ายปี 58/59 เพื่อที่จะนำเสนอ ครม.เห็นชอบพร้อมกับค่าอ้อยขั้นต้นในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้พร้อมกัน ขณะที่การเปิดหีบอ้อย กอน.ได้กำหนดให้ทยอยเปิดตั้งแต่ 6 ธ.ค.” แหล่งข่าวกล่าว