xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อยสระแก้ว เฮ! ศาล ปค.สั่งเพิกถอน กฎ อก.ตั้งโรงงาน-ปมหนุนปลูกอ้อย แต่ไม่มีโรงงานแปรรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เว็ปไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลปกครอง
ชาวไร่อ้อยสระแก้ว เฮ! ศาลปกครอง สั่งเพิกถอนกฎ กระทรวงอุตสาหกรรม นโยบายรัฐ หนุนปลูกอ้อย แต่ไม่ตั้งโรงงานแปรรูปในพื้นที่ เผย เกษตรกรที่หันมาลงทุนปลูกอ้อยจำนวนหลายพันคนได้รับผลกระทบ ต้องประสบภาวะผลผลิตล้นตลาด

วันนี้ (20 พ.ย.) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสํานักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฎ ด้วยศาลปกครองสูงสุดได้มีคําพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.๑๑๑๘/๒๕๕๘ ระหว่างสมาคมเกษตรกร ชายแดนบูรพา ที่ ๑ กับพวกรวม ๗๓๕ คน ฟ้องคดี บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลีจํากัด ผู้ร้องสอด กับ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๑ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ ๒ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จํากัด ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี โดยพิพากษาเพิกถอนหลักเกณฑ์ตามหนังสือ สอน. ที่ อก. ๐๖๐๑/๘๖๒ ลงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๐ เรื่อง การกําหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขยายกําลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล เฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ ๑ ที่กําหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เดิมในเส้นทางที่ใกล้ที่สุดไม่น้อยกว่า ๘๐ กิโลเมตรโดยให้มีผลนับแต่วันออกหลักเกณฑ์ดังกล่าวจึงประกาศให้ทราบทั่วกัน ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ไกรรัช เงยวิจิตร รองเลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง รักษาการในตําแหน่งเลขาธิการสํานักงานศาลปกครอง

มีรายงานว่า คดีนี้เมื่อ วันที่ 10 พ.ค. 56 สมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา สภาเกษตรกรจังหวัดสระแก้ว พร้อมด้วยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย จ.สระแก้ว กว่า 500 คน ตัวแทนเกษตรกรผู้ฟ้องคดีจำนวน 735 คน เข้ายื่นฟ้องศาลปกครองให้ดำเนินคดีกับ กระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และบริษัทน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด เพื่อขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี ดำเนินการจัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ ขึ้นที่ จ.สระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 50 ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งโรงงานน้ำตาลเพิ่มในพื้นที่ จ.สระแก้ว

จากมติ ครม. ดังกล่าว บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด ได้เข้ามาประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพิ่ม เพื่อตั้งโรงงานแปรรูปและรับซื้อผลผลิตแห่งใหม่ อย่างไรก็ดี กลับไม่มีการจัดตั้งโรงงานใหม่ตามที่สัญญาไว้ ทำให้เกษตรกรที่หันมาลงทุนปลูกอ้อยจำนวนหลายพันคน ต้องประสบภาวะผลผลิตล้นตลาด โรงงานน้ำตาลเดิมซึ่งมีอยู่เพียง 1 แห่ง ในจังหวัดสระแก้วเดิมก็ไม่สามารถรองรับปริมาณการผลิตได้ ทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยขาดทุนต่อเนื่องมายาวนานกว่า 5 ปี

คำร้องต่อศาลในคดีนี้ คือ 1. ขอให้มีคำสั่งเพิกถอน หรืองดเว้นการใช้หลักเกณฑ์ของกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การกำหนดเงื่อนไขการย้ายสถานที่ตั้งและขายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล ซึ่งกำหนดให้โรงงานที่จะตั้งใหม่ต้องมีระยะห่างจากที่ตั้งของโรงงานน้ำตาลเดิมไม่น้อยกว่า 80 กม. โดยสันนิษฐานว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวถูกใช้นำมาเป็นข้ออ้างในการไม่พิจารณาจัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งเดิมจะจัดตั้งใน อ.ตาพระยา แต่ประสบปัญหาด้านชลประทานจึงจะย้ายไปจัดตั้งใน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ทำให้อยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลเดิมน้อยกว่า 80 กม.

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้ออกเป็นกฎกระทรวงตามที่ พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ แต่ออกเป็นบันทึกข้อความเมื่อปี 2554 และยังไม่ถูกนำไปใช้อย่างเป็นมาตรฐาน เนื่องจากในหลายจังหวัด เช่น จ.เลย ยังมีการอนุญาตให้จัดตั้งโรงงานแห่งใหม่ที่มีระยะห่างจากโรงงานเดิมน้อยกว่า 80 กม. ได้ จึงตีความได้ว่าการกระทำดังกล่าวของกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเลือกปฏิบัติ เข้าข่ายการเอื้อประโยชน์ให้โรงงานน้ำตาลเดิมผูกขาดการรับซื้อผลผลิตเพียงเจ้าเดียว

2. ขอให้มีคำสั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัท นิวกว้างสุ้นหลี สามารถย้ายสถานที่ตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล ไปตั้งที่ อ.วัฒนานคร ได้ และ 3 .ขอให้มีคำสั่งให้บริษัท นิวกว้างสุ้นหลี ดำเนินการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิตน้ำตาล และ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เพื่อดำเนินกิจการและรับซื้อผลผลิตอ้อย

วันนั้น นายมนตรี คำพล นายกสมาคมเกษตรกรชายแดนบูรพา ระบุว่า ผลจากการส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อใช้เป็นพืชพลังงานผลิตเอทานอล การที่รัฐบาลรับประกันราคา รวมทั้งการโฆษณาชวนเชื่อของโรงงานใน จ.สระแก้ว ให้เกษตรกรหันมาปลูกอ้อย ทำให้ในปีที่ผ่านมา จ.สระแก้ว มีผลผลิตอ้อยถึง 3.6 ล้านตัน แต่โรงงานน้ำตาลที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวสามารถรองรับผลผลิตได้เพียง 2.5 ล้านตันต่อหนึ่งฤดูกาล เกษตรกรจึงต้องขนอ้อยสดไปขายนอกพื้นที่ เช่น ชลบุรี บุรีรัมย์ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กระทบเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั้งใน จ.สระแก้ว และข้างเคียงมากกว่า 3,000 ราย เป็นเหตุให้ขาดทุนรวมกันไม่ต่ำกว่า 142 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ หากคิดมูลค่าความเสียหายตั้งแต่ปี 2550 - ปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากการส่งเสริมปลูกและโรงงานใหม่ไม่ไปตั้งตามสัญญา คิดเป็นความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 640 ล้านบาท และหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขคาดว่าในปีการผลิต 2556/2557 เกษตรกรชาวไร่อ้อย จ.สระแก้วจะได้รับความเสียหายเพิ่มคิดเป็นมูลค่า 202 ล้านบาท

“ทุกวันนี้เราต้องขนอ้อยไปขายนอกพื้นที่ที่ ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมาก โรงงานในพื้นที่ก็ไม่มีคิวให้ หรือมีก็ต้องรอนานทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งเรื่องน้ำหนักและความหวาน เกษตรกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบจนมีแต่หนี้สิน” ตัวแทนเกษตรกรไร้อ้อยรายหนึ่งกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น