xs
xsm
sm
md
lg

“ยูเอเอส” เชื่อมีเงื่อนงำ ทอท.เบี้ยวหนี้ฟรีโซน วอนจ่ายค่าจ้างหวั่นหยุดทำงานจะเสียหายหนัก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กิจการร่วมค้า ยูเอเอส” ชี้ ทอท.เบี้ยวหนี้ค่าจ้างบริหารฟรีโซนสุวรรณภูมิ 167 ล้าน น่าจะมีเงื่อนงำ หลังมีนโยบายปรับฟรีโซนเป็น Airport Logistics Park ระบุหากต้องการพื้นที่คืนบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ขอร้องอย่าบีบเอกชน เพราะไม่อยากมีปัญหากับหน่วยงานรัฐ เผยอาจแบกค่าใช้จ่ายไม่ไหว ทำงานไม่ได้ ระบบฟรีโซนชัตดาวน์ นำเข้า-ส่งออกทางอากาศของไทยกระทบแน่

นายวิทยา อนุกูล ผู้อำนวยการโครงการรับจ้างงานบริหารและจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดภาษีอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ของกิจการร่วมค้า ยูนิเวอร์แซล เอวีเอชั่น เซอร์วิสเซล (ยูเอเอส) เปิดเผยว่า หลังได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้แก้ไขปัญหากรณีบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ไม่จ่ายเงินติดค้างค่าจ้างตามสัญญาสะสม 3 ปี เป็นเงิน 167 ล้านบาท ขณะที่ผ่านมาได้มีการทำหนังสือทวงถามหลายครั้ง ทั้งจากคณะกรรมการตรวจการจ้าง และพบกับคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.มาแล้ว 3 ครั้ง ยังไม่คืบหน้า ยืนยันว่าบริษัทฯ ได้ทำงานตามสัญญาจ้างทุกวัน 24 ชั่วโมงอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ มีการจัดส่งรายได้ให้ ทอท.31-32 ล้านบาท/เดือน โดยขอเบิกค่าใช้จ่ายประมาณ 23 ล้านบาท/เดือน บางเดือนไม่ได้ค่าจ้าง โดยเฉพาะงาน Outsourcing ซึ่งมีพนักงาน 200-300 คน ส่วนพนักงานของยูเอเอสมีประมาณ 500-600 คน ต้องแก้ปัญหาด้วยการขอโอดีจากธนาคารมาจ่ายเงินเดือนไม่น้อยกว่า 3 ปีแล้ว จนล่าสุดอาจจะแบกรับภาระไม่ไหว จึงขอความเป็นธรรมจากระดับนโยบายให้ลงมาแก้ไข

ทั้งนี้ ฟรีโซนเป็นหัวใจของลอจิสติกส์ประเทศ หากไม่ได้รับค่าจ้างมาช่วยบำรุงระบบทุกอย่าง ทั้งแอร์ คอมพิวเตอร์ ระบบเกี่ยวเนื่องศุลกากร และบริษัทไม่สามารถทำงานต่อได้ จนต้องหยุดทำงานบริการนำเข้า-ส่งออกทางอากาศหยุดชะงักแน่นอน โดยปัจจุบันมีผู้ใช้บริการศุลกากร และเข้าออกพื้นที่ฟรีโซนกว่า 20,000 คน/วัน และมีกว่า 200,000 transection/เดือน

“ประเด็นสำคัญคือ นโยบายของ ทอท.ไม่แน่นอน โดยก่อนนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงฟรีโซนให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้าง ต่อมาเปลี่ยนเป็น Airport Logistics Park ที่ผ่านมา พยายามทวงถามค่าจ้าง แต่ไม่เป็นผล อ้างเอกสารไม่ครบและขอเพิ่มอีก เป็นการสร้างเงื่อนไขนอกสัญญา ทอท.ทำแบบนี้เหมือนอยากได้พื้นที่คืน แต่ไม่มีเหตุบอกเลิกสัญญา ไม่จ่ายเงินบริษัทเพื่อจะทำให้อยู่ไม่ไหวและเลิกสัญญาเองซึ่งไม่เป็นธรรม ทั้งที่ ทอท.สามารถบอกเลิกสัญญาได้ เพราะแต่ละปีมีประเมินการทำงาน ไม่ดีก็บอก เรายืนยันไม่มีอะไรขัดแย้งในการทำงาน บริษัทเอกชนไม่อยากมีปัญหาหรือทะเลาะกับ ทอท.เพียงแต่ขอความเป็นธรรม ขอเคลียร์หนี้สินที่ ทอท.ค้างจ่าย”

ทั้งนี้ ทอท.ได้ทำสัญญาจ้าง ยูเอเอส ให้บริหารจัดการด้านการขนส่งสินค้าภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ฟรีโซน) ในเดือน ต.ค. 2553 อายุสัญญา 10 ปี (2553-2563) เป็นการว่าจ้างทำงาน ไม่ใช่สัมปทาน ดังนั้น หลักการคือ ยูเอเอสจะบริหารโดยสำรองค่าใช้จ่ายแทน ทอท.ไปก่อน และเบิกคืนจาก ทอท.โดยมีใบเสร็จรับเงิน โดยมีขอบเขตงานตามสัญญาที่ยูเอเอส ต้องทำคือ บริหารจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก, บริหารจัดการอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ศุลกากร, งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ, อำนวยการเขตฟรีโซน, งานขนส่งสินค้าระหว่างอาคารและบริหารจัดการคลังสินค้าส่วนกลางในฟรีโซน โดยมีหน้าที่เก็บรายได้ต่างๆ เช่น ค่าเช่า ค่าบริการจากผู้ประกอบการภายในฟรีโซน

ทั้งนี้ สัญญากำหนดการเบิกคืนค่าใช้จ่าย 2 หมวด คือ ด้านพนักงาน โดย ทอท.จะจ่ายทุกวันที่ 25 ของเดือน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ใช้ในการทำงานตามขอบเขตสัญญาจ้าง เช่น ค่าซ่อมบำรุงสาธารณูปโภค โดย ทอท.จ่ายคืนใน 20 วัน นับแต่วันที่ยูเอเอสวางบิล ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อการเบิกคืนล่าช้าตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่การชี้แจงของนายศิโรตม์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทอท. ไม่เป็นความจริง เช่น กรณีระบุว่ายูเอเอสส่งงานไม่ครบนั้น ข้อเท็จจริงสัญญากำหนดให้ยูเอเอสทำงานครบก่อนแล้ววางบิล ยูเอเอส ควรได้รับเงินที่สำรองจ่ายแทน ทอท.ตามขอบเขตงานโดยมีใบเสร็จชัดเจน งานเสร็จแล้วจึงไปเบิกเงินคืน ซึ่ง ทอท.ได้รับประโยชน์จากงานเสร็จไปแล้ว, กรณีให้ยูเอเอส ส่ง TOR จ้าง Outsourcing ก่อน ซึ่งบริษัทได้ขออนุมัติ ทอท.ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนคณะกรรมการจ้างใหม่ มีการหยุดจ่ายค่า Outsourcing ช่วง มิ.ย. 2558 ทั้งที่จ้างรายเดิม ราคาเดิมทุกอย่างไม่เปลี่ยน การเสนอ TOR ใหม่ราคาจะเพิ่มจากปี 2553 จึงไม่เข้าใจว่า ทอท.ต้องการอะไร ทั้งที่บริษัทรักษาประโยชน์ให้ ทอท.

ส่วนการจ้าง Outsources 2 ปีนั้น สัญญาไม่ได้ระบุระยะเวลาการจ้างงานช่วง ที่ผ่านมา 6 ปีจ้างงานช่วงรายเดิม, กรณีงานจ้างภูมิทัศน์พื้นที่ลดลง 6,000 ตารางเมตรนั้น ทอท.ไม่เคยแจ้งเรื่องนี้ต่อยูเอเอสเลย ซึ่ง ทอท.สามารถทำเรื่องลดหนี้ได้หากมีการลดพื้นที่จริง แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ, กรณีระบบไม่ซ่อมแซมระบบปรับอากาศทำให้ Chiller ชำรุด ระบบนี้เปิดมาตั้งแต่ปี 2549 บริษัทดูแลมาตลอดตั้งแต่ปี 2553 และแจ้ง ทอท.ทราบว่าเครื่องชำรุด แต่ ทอท.เพิกเฉยไม่จัดหาเครื่องใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น