xs
xsm
sm
md
lg

ลูกจ้างเฮ นายจ้างส่วนใหญ่ขึ้นเงินเดือน-จ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.87 เดือนแต่ลดลงกว่าปีที่แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.เผยผลสำรวจปรับค่าจ้างและโบนัสสิ้นปีนี้นายจ้างส่วนใหญ่พร้อมควักจ่ายขึ้นเงินเดือนให้ โดยขึ้นเฉลี่ย 4.17% ขณะที่การจ่ายโบนัสเฉลี่ย 1.87 เดือน ภาพรวมลดลงจากปีก่อนและลดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4



นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงผลสำรวจนโยบายปรับค่าจ้างและโบนัสปี 2559 โดยเก็บข้อมูลวันที่ 14 ก.ค. 59 จากนายจ้าง 535 ราย 12 คลัสเตอร์อุตสาหกรรมได้แก่ 1.คลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ 2. เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องปรับอากาศ 3. ปิโตรเคมี 4. ผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม 5. พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 6. แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ 7. ยางและไม้ยางพารา 8. ยานยนต์และชิ้นส่วน 9. วัสดุก่อสร้าง 10. วิศวกรรมเครื่องจักรกลและงานโลหะ 11. อาหาร และ 12.อื่นๆ ว่า ภาพรวมปี 59 พบว่านายจ้างจะขึ้นเงินเดือนใหม่ในปี 2560 และจ่ายโบนัสลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ไม่ปรับเพิ่มขึ้นและผลประกอบการที่ไม่ดีนัก โดยพบว่านายจ้าง 84% จำนวน 450 รายระบุว่าจะปรับให้พนักงานและปรับขึ้นเฉลี่ย 4.17% จากเงินเดือน โดยปรับลดลงจากปีที่แล้วที่มีการปรับขึ้นเฉลี่ย 5.04%

ส่วนโบนัสภาพรวมนายจ้าง 88% จำนวน 473 รายพร้อมที่จะจ่ายโบนัส มีเพียง 12% จำนวน 62 รายที่ไม่พร้อมจ่ายโบนัสให้พนักงาน และภาพรวมการจ่ายโบนัสเฉลี่ยจะอยู่ที่อัตรา 1.87 เดือน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่พนักงานได้รับโบนัสเฉลี่ย 2.34 เดือน

“เราพบว่าอัตราเงินเดือนที่ปรับขึ้นและโบนัสที่จ่ายมีการลดลงต่อเนื่องในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2556 และจากการสำรวจในครั้งนี้พบว่าคลัสเตอร์พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้สูงสุดโดยขึ้น 5% ขณะที่คลัสเตอร์ยานยนต์จ่ายโบนัสสูงสุดเฉลี่ย 3.37 เดือน” นายภาวากล่าว

นอกจากนี้จากสถานประกอบการทั้งหมด พบว่า 256 แห่งให้ข้อมูลด้านกำลังคน โดยมีความต้องการเพิ่มกำลังคน 118 แห่ง และไม่ต้องการเพิ่มกำลังคน 138 แห่ง คิดเป็น 53.91% ซึ่งสถานประกอบการที่ให้ข้อมูลมีกำลังคนในปัจจุบันทั้งหมด 215,693 คน จำแนกเป็น ระดับต่ำกว่าม.6 จำนวน 107,362 คน คิดเป็น 49.78% ระดับปวช./ปวส. จำนวน 79,534 คน คิดเป็น 36.87% และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 28,797 คน คิดเป็น 13.35% โดยมีความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้นในปีถัดไป 9,661 คน คิดเป็น 4.48% จำแนกเป็นระดับต่ำกว่าม.6 จำนวน 6,091 คน คิดเป็น 2.82% ระดับปวช./ปวส. จำนวน 2,374 คน คิดเป็น 1.10% และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 1,196 คน คิดเป็น 0.56%

นายเจน นำชัยศิริ ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผล 1 ม.ค. 60 เฉลี่ยขึ้น 5-10 บาทต่อวัน ในแง่ต้นทุนการผลิตของภาคการผลิตไม่มีผลกระทบมากจนนำไปสู่การปรับราคาสินค้าในภาคอุตสาหกรรมแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเมื่อมีการขึ้นค่าจ้างก็มักจะมีการขึ้นราคาอาหารและอื่นๆ จึงต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ดูแลส่วนนี้เพราะหากที่สุดประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นการขึ้นค่าแรงก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น