xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ ชง ก.พ.ร.สิ้นปีปรับภารกิจเร่งขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าชง ก.พ.ร.สิ้นปีนี้เคาะโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง หวังเดินหน้าเร่งขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในปี 2560 ย้ำไม่มีการเปลี่ยนชื่อกระทรวงแน่นอน

นายสมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถาบันเครือข่าย 11 แห่งต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณาภายในสิ้นปีนี้ เพื่อที่จะเร่งเดินหน้าขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี (2560-79) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่รัฐบาลมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลาง โดยคาดว่าภารกิจบางส่วนจะเริ่มขับเคลื่อนได้ในปี 2560

สำหรับโครงสร้างกระทรวงอุตสาหกรรม ภารกิจหลักๆ ได้แก่ 1. กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ที่ผ่านมาจะเน้นภารกิจการกำกับดูแลและการให้ใบอนุญาตจะต้องนำเทคโนโลยีมาบริการเพื่อให้รวดเร็ว จะต้องเพิ่มบทบาทให้ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาปรับสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นหรือก้าวสู่สังคมสีเขียว 2. กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จะต้องเน้นนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ส่งเสริมทั้งวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจทั่วไป สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เป็นต้น

3. สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จะต้องมองการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาพใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในเชิงนโยบาย ซึ่งขณะนี้กำลังพิจารณาในภาพรวมและรายละเอียดในแต่ละอุตสาหกรรม 4. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จะเน้นเร่งรัดการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายให้มากขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น ผลิตภัณฑ์ยางที่ดำเนินการแล้วกว่า 100 มาตรฐาน การถ่ายทอดงานด้านมาตรฐานงานชุมชนจะมอบให้เป็นบทบาทจังหวัดทดสอบแทน ฯลฯ

5. สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) จะเน้นปรับไปดูอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยที่จะไปเน้นการผลิตไบโอชีวภาพมากขึ้น แต่ภาพรวมอุตสาหกรรมอ้อยก็ยังคงดูแล แต่กรณีต้นน้ำอื่นๆ เช่น ปาล์ม ยางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวแต่อย่างใด 6. กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เน้นการพัฒนาวัตถุดิบแร่ในประเทศให้ก้าวไปสู่การพัฒนาโลหกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับสถาบันเครือข่าย 11 แห่ง ได้แก่ สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันรับรองมาตรฐาน ISO สถาบันยานยนต์ สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สถาบันพลาสติก และสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย จะต้องปรับภารกิจที่จะต้องตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0

“จะไม่มีการปรับองค์กรใดๆ ไม่มีการยุบหรือเปลี่ยนชื่อกระทรวงอุตสาหกรรมทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิม แต่จะเน้นปรับภารกิจให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลซึ่งก็ต้องรอให้ ก.พ.ร.พิจารณาก่อน” นายสมชายกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น