ปตท.ร่วมกับกรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือโครงการพัมนาและพื้นฟูพื้นที่สีเขียว สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พลิกพื้นที่สีเขียว 38 ไร่ พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ วางแผนดำเนินโครงการ 3 ปี ใช้เงิน 100 ล้านบาท
ในวันนี้ (16 พ.ย.) นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ นายจงรักษ์ วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือโครงการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว สวนเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หนึ่งในแผนงานโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า ของ ปตท. โดยมีนายลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนาม
นายเทวินทร์เปิดเผยว่า นับเป็นความท้าทายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่พื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ปตท.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่สีเขียวของคุ้งบางกะเจ้า ประกอบด้วย 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลบางกะเจ้า ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ และตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ พื้นที่สีเขียวผืนสุดท้ายของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์วิถีชุมชนดั้งเดิมตามแนวพระราชดำริ และเป็นต้นแบบการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่น อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้แนวยุทธศาสตร์การพัฒนาของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยกำหนดการดำเนินโครงการรักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักษ์คุ้งบางกะเจ้า ในระยะแรก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ใช้เงินลงทุน 100 ล้านบาท
การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ปตท.พร้อมสนับสนุนการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ 38 ไร่ ซึ่งจะมีการปลูกต้นไม้เสริม และปลูกพืชผสมผสานแบบมิยาวากิโดยร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คัดเลือกพันธุ์พืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างซึ่งเป็นพันธุ์ไม้ท้องถิ่น เช่น ตะเคียนทอง ยางนา ไข่เขียว มะกอกน้ำ กระเบาใบใหญ่ ไทร กร่าง กันเกรา มะพลับ อินทนิล เป็นต้น และจัดทำแปลงสร้างป่าสร้างรายได้ ปลูกไม้ผลและต้นไม้เศรษฐกิจ เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ละมุด มังคุด ขิง ข่า สมุนไพร ที่สามารถใช้เป็นต้นแบบ การปลูกต้นไม้ให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนในพื้นที่ คาดว่าภายหลังจากการพัฒนาพื้นที่แล้ว จะทำให้มีพื้นที่สีเขียวจะเพิ่มขึ้นประมาณ 14% (5.24 ไร่) และมีชนิดพันธุ์ไม้ดั้งเดิมเพิ่มขึ้น 170% (จากเดิม 85 ชนิด เพิ่มขึ้นเป็น 230 ชนิด) จำนวนไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้น 344% (จากเดิม 3618 ต้น เป็น 16068 ต้น) นอกจากนี้ ปตท.ยังจะสนับสนุนการศึกษาและวางแผนปรับปรุงระบบการไหลเวียนของน้ำในพื้นที่ การศึกษาวิจัยป้องกันการกัดเซาะพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโดยสร้างแนวไม้ไผ่กันคลื่น เพื่อให้เกิดการสะสมของดินเลนงอกใหม่ ฟื้นฟูป่าชายเลน และบริหารจัดการพื้นที่สวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดงแห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านพันธุ์พืชในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ทั้งนี้ กรมป่าไม้จะสนับสนุนพื้นที่เพื่อดำเนินงาน ควบคุมและติดตามผลการปลูก การบำรุงรักษา จัดทำป้ายสื่อความหมายธรรมชาติ เชื่อมโยงกับการเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชุมชนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จะให้การสนับสนุนการศึกษารูปแบบ วิธีการปลูก บำรุงรักษา ควบคุม และติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ การฟื้นคืนระบบนิเวศ และการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
การลงนามความร่วมมือระหว่าง ปตท. กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจากมูลนิธิชัยพัฒนาเป็นประธานพิธีในครั้งนี้ นับเป็นการเดินหน้าอย่างมุ่งมั่นเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในชุมชนเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นการเจริญรอยตามพระยุคลบาท ทำความดีเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อีกด้วย