xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ลงพื้นที่นำร่องถนนเลียบเจ้าพระยา ชี้ท่าน้ำนนท์-สะพานพระราม 5 อุปสรรคน้อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สนข.” เตรียมสรุปการศึกษาถนนเลียบเจ้าพระยาปลาย ธ.ค.นี้ เร่งเสนอ “คมนาคม” เพื่อชง ครม.อนุมัติแผนต้นปี 59 ก่อนลงมือออกแบบรายละเอียด พื้นที่นำร่องช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม 5 อีก 9 เดือน พาสื่อลงพื้นที่ดูของจริง ผุดแลนด์มาร์กใหม่ เชื่อคุ้มค่าลงทุนเปิดพื้นที่สาธารณะเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยา

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เปิดเผยภายหลังนำสื่อมวลชนเยี่ยมชมพื้นที่นำร่อง (P5) โครงการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อม ถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ว่าจากการศึกษาตั้งแต่เส้นทางบริเวณ จ.ปทุมธานี ถึง จ.สมุทรปราการ โดยมีระยะทางทั้งหมด 140 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นในส่วนรับผิดของกรุงเทพมหานคร 70กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้ได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน 6 ครั้ง และได้ข้อสรุปออกแบบเบื้องต้นแล้วมีทั้งหมด 8 โครงการ ประกอบด้วย 1. โครงการเมืองปทุมธานี (ช่วงปทุมธานี-สะพานนนทบุรี) 2. โครงการบางตะไนย์ (ช่วงสะพานนนทบุรี-สะพานพระราม4) 3. โครงการปากเกร็ด (ช่วงสะพานราม 4-กรมชลประทาน) 4. โครงการสะพานพระนั่งเกล้า (ช่วงกรมชลประทาน-สะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์) 5. โครงการท่าน้ำนนท์ (ช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์-สะพานพระราม 5) 6.โครงการบางไผ่ (ช่วงสะพานพระราม 5-สะพานราม 6) 7. โครงการกรุงเทพมหานคร (ช่วงสะพานราม 6- สุดเขต กทม.) และ 8. โครงการบางกะเจ้า

ทั้งนี้ จากการศึกษาก็มีบางช่วงที่พบประสบปัญหาการเชื่อมจราจรและการยอมรับของประชาชน โดยมีการเสนอว่าต้องให้เป็นเส้นทางสัญจรแบบเป็นเส้นทางเดินเท้า และเส้นทางจักรยาน โดยคาดลงทุนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น กทม.1.6 หมื่นล้านบาท ส่วนของจังหวัด ปทุมธานี และนนทบุรี ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ที่ปรึกษาจะสรุปผลการศึกษาภายในปลายปี 2558 โดยเบื้องต้นทางที่ปรึกษาและ สนข.ได้มีการคัดเลือกพื้นที่โครงการที่ 5 บริเวณสะพานมหาเจษฎาบดิทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1)-สะพานพระราม 5 ระยะทางฝั่งละ 7 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ต้นแบบนำร่องจากทั้งหมด 8 พื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นในด้านเอกลักษณ์มีวัดสำคัญ มีชุมชนสองฝั่ง มีศาลาลางเก่า และส่วนใหญ่เป็นที่ของส่วนราชการซึ่งจะมีอุปสรรคในการดำเนินโครงการน้อย โดยนอกจากถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งจะเป็นรูปแบบของทางเดินและทางจักรยานแล้วจะมีสะพานเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำเป็นทางเดินและทางจักรยานด้วย ซึ่งจะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของนนทบุรี

โดยหลังจากสรุปผลการศึกษา สนข.จะนำเสนอต่อกระทรวงคมสาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบผลการศึกษา ซึ่งโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล เชื่อว่าจะได้รับการพิจารณาโดยเร็ว ซึ่งหลังจากได้รับอนุมัติ สนข.จะดำเนินการศึกาษาออกแบบรายละเอียด โครงการนำร่องทันที คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 9 เดือน จะมีความชัดเจนในเรื่องค่าก่อสร้างและกำหนดหน่วยงานที่จะรับผิดชอบ ซึ่งประเมินว่าจะสรุปและเสนอของบประมาณดำเนินการได้ในปี 2561 โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างจะมีทั้งกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ในส่วนของสะพานและถนนเลียบแม่น้ำ, กรมเจ้าท่าท (จท.) ในส่วนของท่าเรือ หรือจะให้จังหวัดนนทบุรีรับผิดชอบ เป็นต้น

“แผนกำหนดว่าจะพัฒนาทั้ง 8 โครงการในระยะ 5 ปี และการพิจารณามีหลายมิติ ทั้งทางเพื่อสาธารณะ ความสวยงาม สถาที่พักผ่อน ออกกำลังกาย ประชาชนสามารถเข้าถึงแม่น้ำได้ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ส่วนการพัฒนาจะทยอยในแต่ละพื้นที่ที่มีความพร้อม ใช้งบประมาณไม่มาก และเมื่อเริ่มทำพื้นที่นำร่องจะทำให้ประชาชนจะเห็นภาพจริงและประโยชน์ของโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยนำเสนอผลการศึกษาต่อ รมว.คมนาคมแล้ว เห็นตรงกันว่าเป็นโครงการที่ต้องดำเนินการและมีประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของประเทศได้” นายชัยวัฒน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาให้เป็นที่สาธารณะ ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ในลักษณะเป็นทางสัญจร ทั้งทางเดินเท้า ทางจักรยาน ทางถนน เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ทางน้ำกับทางบก ด้วยระบบขนส่งสาธรณะที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และให้สามารถใช้เป็นสถานที่พักผ่อน รวมทั้งช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำด้วย ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งไทย พ.ศ. 2558-2565 และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างอนาคตของเมือง อย่างเช่นการเชื่อมต่อโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าซึ่งจะทำให้มีการเติบโต และการขยายตัวของกิจกรรมในพื้นที่ริมแม่น้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น