“กรมเจ้าท่า” ปล่อยแถวเจ้าหน้าที่เต็มกำลัง เพื่ออำนวยความสะดวก และดูแลปลอดภัยคืนลอยกระทง พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยทางน้ำ 3 จุด คือ ท่าเรือเอเชียทีค ท่าเรือริเวอร์ซิตี้ และท่าเรือยอดพิมาน โดยขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ได้เป็นประธานปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเรือตรวจการณ์ และเรือรักษาการณ์ เพื่อออกปฏิบัติหน้าที่ในคืนวันลอยกระทง วันที่ 14 พ.ย. 2559 โดยที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบดูแลความเรียบร้อยของการใช้โป๊ะและท่าเทียบเรือโดยสารต่างๆ ตามแผนรักษาการณ์ทางน้ำช่วงเทศกาลลอยกระทง และได้ร่วมมือกับกองทัพเรือ ตำรวจน้ำ โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยทางน้ำ 3 จุด คือ ท่าเรือเอเชียทีค ท่าเรือริเวอร์ซิตี้ และท่าเรือยอดพิมาน โดยขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น เรือตรวจการณ์จะเข้าช่วยเหลือภายใน 8 นาที ตามมาตรฐานที่มีการฝึกซ้อมไว้ พร้อมมีสายด่วน 1199 หรือ 0-2233-0437 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับการปฏิบัติการด้านความปลอดภัยเป็นพิเศษในคืนวันลอยกระทง ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของกรมฯ รวมทั้งสิ้น 176 คน พร้อมด้วยเรือยนต์ตรวจการณ์จำนวน 14 ลำ แยกเป็น เรือตรวจการณ์ทั่วไป 2 ลำ, เรือรักษาการณ์ประจำพื้นที่ 12 ลำ, เจ้าหน้าที่รักษาการณ์ 30 คน, เจ้าหน้าที่ประจำเรือ 30 คน, เจ้าหน้าที่ประจำท่าเทียบเรือ 108 คน จำนวน 62 ท่าเรือ, เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยทางน้ำ 8 คน รวมทั้งเครือข่ายอาสาวารีกรมเจ้าท่า และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กองทัพเรือ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบังคับการตำรวจน้ำ, กรุงเทพมหานคร, มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง, มูลนิธิร่วมกตัญญูสมาคมเรือไทย, หน่วยแพทย์กู้ชีวิต, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, เรือด่วนเจ้าพระยา และศูนย์ปลอดภัย กระทรวงคมนาคม ในการประสานความร่วมมือกันอีกด้วย ขณะเดียวกัน กรมเจ้าท่ายังได้จัดเตรียมกระชอนสำหรับการลอยกระทงไว้ตามท่าเรือต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพื่อความปลอดภัยแก่ประชาชนด้วย
ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้ขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบกิจการ ผู้ใช้เรือ ผู้ครอบครองโป๊ะเทียบเรือ ติดตั้งป้ายระบุจำนวนคนที่สามารถรับน้ำหนักในที่มองเห็นชัดเจน พร้อมติดตั้งไฟส่องสว่างตลอดทั่วบริเวณโป๊ะเรือและทางขึ้น-ลง ต้องมีพวงชูชีพประจำทุกโป๊ะ อีกทั้งให้เจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ทำการตรวจสภาพเรือให้มีความปลอดภัยให้มีป้ายระบุจำนวนรองรับผู้โดยสารติดอยู่ข้างตัวเรือ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เช่น เบาะชูชีพ เสื้อชูชีพ และเครื่องมือดับเพลิง ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ประชาชนทั่วไปก็ให้ระมัดระวังในการขึ้น-ลงเรือ หรือในขณะเรือโคลงให้ผู้โดยสารพยายามจับพนักที่นั่ง รวมทั้งแต่งกายให้เหมาะสมและถอดง่ายเพื่อสะดวกแก่ผู้ช่วยเหลือ ห้ามดื่มสุราหรือเสพของมึนเมา ห้ามจุดดอกไม้ไฟในเรือ บนโป๊ะท่าเทียบเรือ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายแก่เรือลำอื่นและประชาชนทั่วไปได้ โดยเรือทุกลำ ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดและให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่าซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเรือรักษาการณ์ และตามท่าเรือต่างๆ ตามมาตรา 52 ทวิ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับตั้งแต่ 500-1,000 บาท และกรมเจ้าท่ามีอำนาจยึดประกาศนียบัตรของผู้ควบคุมเรือได้
นอกจากนี้ กรมเจ้าท่าได้ออกประกาศกำหนดให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพื้นที่ควบคุมการเดินเรือในช่วงเทศกาลวันลอยกระทง ระหว่างเวลา 16.00-24.00 น. ตั้งแต่ทิศเหนือจากสะพานพระราม 7 จนถึงทิศใต้ที่สะพานพระราม 9 โดยห้ามเรือเดินทะเล เรือลากจูงลำเลียงสินค้า เรือบรรทุกสินค้าอันตรายเดินเรือในเวลาดังกล่าว ส่วนเรือข้ามฟากสามารถให้บริการได้ตามปกติ สำหรับเรือโดยสารที่เดินเรือเข้าเขตควบคุม ให้เรือที่ล่องไปทางทิศใต้เดินเรือชิดฝั่งตะวันตก (ฝั่งธนบุรี) และเรือที่ล่องขึ้นทางทิศเหนือให้เดินเรือชิดฝั่งตะวันออก (พระนคร) โดยต้องเดินเรือด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวพร้อมกับสร้างความปลอดภัยในช่วงที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวหนาแน่น