กนอ.เซ็นสัญญาบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ตั้งนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 บนพื้นที่กว่า 841 ไร่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ขานรับนโยบายรัฐขับเคลื่อนอีอีซี เตรียมรับคลื่นการลงทุนเพิ่ม คาดก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท พร้อมจ้างงานประมาณ 4,500 คน
นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 กนอ.ได้ลงนามในสัญญาร่วมกับบริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) ดำเนินการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 จังหวัดฉะเชิงเทรา” ในรูปแบบนิคมฯ ร่วมดำเนินงานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ยังมีความต้องการพื้นที่ประกอบการในภาคตะวันออก ทั้งในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเดิม และอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริม ภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development หรือ EEC) เบื้องต้นในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดชลบุรี-ระยอง-ฉะเชิงเทรา
สำหรับนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดี 2 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 841 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ขายประมาณ 630 ไร่ อีก 211 ไร่จะเป็นพื้นที่สาธารณูปโภคและพื้นที่สีเขียว ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าสะอ้าน ตำบลหนองจอก และตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา กำหนดเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมทั่วไปซึ่งจะรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนพลาสติก เพื่อเป็นส่วนประกอบในรถยนต์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงต่อการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกต่อไป โดยมีเป้าหมายที่จะก่อให้เกิดมูลค่าการลงทุนกว่า 27,000 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน ประมาณ 4,500 คน
“พื้นที่นิคมฯ ทีเอฟดี 2 เป็นนิคมฯ ใหม่ที่มีศักยภาพด้านการดึงดูดการลงทุนของภาคตะวันออก และยังเป็นพื้นที่ที่มีระบบการขนส่งที่สะดวก สามารถเชื่อมต่อเพื่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด รวมทั้งการเชื่อมโยงการลงทุนจากกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมไปยังระดับภูมิภาคอาเซียนและตลาดโลก” นายวีรพงศ์กล่าว
ปัจจุบัน บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟดี ตั้งแต่ ปี 2550 มีผู้ประกอบการกว่า 23 ราย ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และ โลหะ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ การให้บริการโรงงานมาตรฐาน การให้บริการให้เช่าเครื่องจักรและอุปกรณ์โรงงาน และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดยมีนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งไทย ญี่ปุ่น จีน อเมริกา อังกฤษ ที่ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง