xs
xsm
sm
md
lg

MRT ใช้ได้แล้ว หลังประแจสับรางเสีย ทำผู้โดยสารป่วน “อาคม” กำชับซ่อม/เปลี่ยนอุปกรณ์ตามเวลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แห้มภาพ
รถไฟฟ้า MRT ใช้ได้แล้วตั้งแต่ 10.15 น. หลังระบบสับประแจขัดข้องที่หัวลำโพง ต้องปิดเดินรถช่วงสามย่าน-หัวลำโพง จัดวิ่งแบบ Short loop และ Shuttle (สีลม-บางซื่อ) เพื่อระบายผู้โดยสาร โดยใช้เวลาแก้ไขกว่า 2 ชม. ด้าน “อาคม” นั่งหัวโต๊ะฝึกซ้อมแผนจำลอง “รถ MRT เบรกขัดข้องติดค้างในอุโมงค์” พอดี สั่งแก้ด่วน กำชับระบบซ่อมบำรุงต้องตามคู่มือ เปลี่ยนตามเวลา แต่เหตุขัดข้องคาดเดายากเพราะอุปกรณ์ใช้งานตลอดเวลา พร้อมสั่ง ขสมก.จัดแผนรถเมล์รับในแต่ละสถานีให้ชัดเพื่อเป็นทางเลือกกรณีรถไฟฟ้าเสีย

จากกรณีที่รถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล ขัดข้องเมื่อเวลา 07.50 น.ช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 7 พ.ย. 2559 ทำให้ต้องหยุดให้บริการชั่วคราวที่สถานีสามย่านและหัวลำโพง การเดินรถมีความล่าช้ากว่า 1 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้โดยสารตกค้างภายในแต่ละสถานีจำนวนมาก เนื่องจากเป็นวันเปิดทำงานวันแรก ล่าสุดทางบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ดำเนินการแก้ไขจนสามารถเปิดเดินรถได้ตามปกติตลอดเส้นทางบางซื่อ-หัวลำโพง ตั้งแต่เวลา 10.15 น.

ทั้งนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า เมื่อเวลาประมาณ 07.50 น.ได้รับแจ้งจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล ประกาศแจ้งระบบการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลขัดข้อง จึงทำให้ไม่สามารถให้บริการเดินรถในสถานีสามย่าน และสถานีหัวลำโพงได้ชั่วคราว ส่งผลให้ล่าช้าเวลาประมาณ 1 ชม. โดยผู้โดยสารที่ต้องการเดินทางไปยังปลายทางสถานีหัวลำโพงสามารถเปลี่ยนขบวนรถได้ที่สถานีพระราม 9 ทั้งนี้ ในส่วนสถานีอื่นๆ ยังสามารถให้บริการได้ตามปกติ ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการแก้ไข

โดยในช่วงเช้าวันเดียวกัน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เดินทางไปยังบริษัท BEM เพื่อเป็นประธานในการฝึกซ้อมการจัดการเหตุการณ์เสมือนจริง (Table Top Exercise) เหตุรถไฟฟ้าติดค้างในอุโมงค์ เนื่องจากระบบเบรกขัดข้อง ณ อาคารบริหาร และศูนย์ซ่อมบำรุงหลัก รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (Depot) โดยกล่าวถึงเหตุรถไฟฟ้า MRT ขัดข้องที่สถานีหัวลำโพงว่า ได้รับรายงานว่าสถานีหัวลำโพง ปลายทางของการเดินรถจะเป็นจุดที่รถไฟฟ้าจะสลับรางเพื่อกลับไปบางซื่อซึ่งจะมีอุปกรณ์หรือประแจสับราง มีการใช้งานตลอดเวลาเกิดขัดข้อง จึงต้องตัดรถที่วิ่งเข้าหัวลำโพง โดยปิดตั้งแต่สถานีสามย่าน โดยได้จัดการเดินรถใหม่เป็นตามรูปแบบกรณีอุปกรณ์บกพร่องหรือเหตุฉุกเฉินพื่อไม่ให้กระทบผู้โดยสารมาก โดยปรับต้นทางและปลายทางใหม่ ใช้เวลาแก้ไขระบบประแจสับรางประมาณ 2 ชม.เศษจึงสามารถแก้ไขให้บริการกลับมาเต็มระบบได้ตามปกติในเวลา 10.15 น.

“การแก้ไขในแต่ละสถานการณ์จะใช้เวลาไม่เท่ากัน แต่ละสถานการณ์จะมีคู่มือให้ปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนและเป็นไปตามมาตรฐานการประสานระหว่างสถานี ขบวนรถไฟฟ้า ศูนย์ควบคุม รวมถึงการให้ข้อมูลข่าวสารต้องสัมพันธ์กันหมด ทุกอย่างต้องแม่นยำ ขณะนี้รถไฟฟ้าจะมีการซ่อมบำรุงทุกๆ วันหลังปิดให้บริการตั้งแต่เที่ยวคืนเป็นต้นไป แต่เครื่องมือบางอย่างแม้จะตรวจเช็กตามคู่มือแต่ก็สามารถขัดข้องได้ทุกเมื่อ ซึ่งการเปลี่ยนอุปกรณ์จะต้องเป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้ เช่น รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ได้กำชับในเรื่องนี้ไป เป็นความพยายามเพื่อป้องกันอย่างครบถ้วน แต่เหตุขัดข้องนั้นยากที่จะคาดเดา แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุต้องมีการบันทึก เพื่อนำมาเรียนรู้และเพิ่มเติมแนวทางการป้องกันและแก้ไขต่อไป” นายอาคมกล่าว

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า เมื่อมีการแจ้งว่ารถไฟฟ้าเกิดขัดข้องที่สถานีหัวลำโพง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการตรวจสอบและแก้ไข พร้อมแจ้งผู้โดยสารรับทราบว่า จะเกิดความล่าช้าในการใช้บริการ พร้อมแจ้งรูปแบบการเดินรถในช่วงไม่ปกติ โดยตั้งแต่ 08.00 น.ได้ปรับเดินรถเป็น 2 ช่วง หรือ Short loop หรือแบบวงกลม จากสถานีบางซื่อ-สถานีพระราม 9 ส่วนจากสถานีพระราม 9-สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ และสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ-สถานีสีลม จะจัดเดินรถแบบ Shuttle ทั้ง 2 ช่วง โดยใช้รถช่วงละ 1 ขบวน เดินรถแบบวิ่งไปและกลับ ซึ่งการเดินรถในภาวะไม่ปกติจำนวนความถี่ลดลงทำให้ไม่สะดวก ทำให้มีผู้โดยสารหนาแน่นในแต่ละสถานี

ฝึกซ้อมแผนจำลอง “รถ MRT เบรกขัดข้องติดค้างในอุโมงค์”

สำหรับการฝึกซ้อมการจัดการเหตุของระบการขนส่งสาธารณะทางรางใน กทม.และปริมณฑล ครั้งที่ 1 ซึ่งกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน ได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์กรณีเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของระบบขนส่งสาธารณะทางราง ตลอดจนประสานงานแก้ไขและบรรเทาเหตุการณ์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยยึดแนวทางตามคู่มือแผนเผชิญเหตุฯ และกำหนดให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า MRT BTS และ Airport Rail Link หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ เป็นประจำทุก 4 เดือน

โดยครั้งนี้ BEM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคลและ สายฉลองรัชธรรม เป็นเจ้าภาพมีคณะผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมจาก ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย รฟม. ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม (ศปภ.คค.) สำนักงานรักษาความปลอดภัย (สปภ.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) รวมถึงผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โดยจัดเหตุการณ์เสมือนจริง (Table Top Exercise) ณ ห้อง Auditorium ชั้น 1 อาคารบริหาร BEM จากเหตุการณ์สมมติ รถไฟฟ้าติดค้างในอุโมงค์ ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ ระหว่างสถานีห้วยขวางกับสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฝั่งขาล่อง (Southbound) เนื่องจากเบรคฉุกเฉินทำงานและไม่สามารถปลดได้ ประกอบกับมีผู้โดยสารติดอยู่ในขบวนรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะผู้ฝึกซ้อมได้ทบทวนลำดับขั้นในการรายงานเหตุ ติดตามประเมินสถานการณ์ และปฏิบัติการแก้ไขเหตุการณ์เสมือนจริง กล่าวคือ เมื่อศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถ (Central Control Room : CCR) รับทราบเหตุและประเมินสถานการณ์แล้ว ได้มีคำสั่งอพยพผู้โดยสารออกจากรถไฟฟ้าขบวนที่เสีย เปลี่ยนถ่ายไปยังรถไฟฟ้าขบวนช่วยเหลือที่มาทำการต่อพ่วง (Coupling) จากนั้นรถไฟฟ้าขบวนช่วยเหลือจึงดันขบวนที่เสียไปยังสถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วจึงทำการอพยพ (Detrain) ผู้โดยสารเข้าสู่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ หลังจากนั้นจึงดันรถไฟฟ้าขบวนที่เสียกลับศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ห้วยขวาง ตามลำดับ โดยใช้เวลาตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนเคลื่อนย้ายรถเสียออกไปยังศูนย์ซ่อม ใช้เวลาจาก 09.25-09.55 น.

จากนั้นคณะผู้ฝึกซ้อมจึงเดินทางไปยังศูนย์ซ่อมบำรุงฯ ห้วยขวาง เพื่อฝึกปฏิบัติสถานการณ์จำลอง วิธีการต่อพ่วงรถไฟฟ้า และการอพยพผู้โดยสารระหว่างขบวนรถผ่านทางประตูหน้าของรถไฟฟ้าทั้งสองขบวนที่ต่อพ่วงกัน

นายอาคมกล่าวว่า สถานการณ์สมมุติใช้เวลาประมาณ 30 นาที แต่ในเหตุการณ์จริง การขนถ่ายผู้โดยสารอาจจะใช้เวลามากกว่าได้ นอกจากนี้ได้สั่งให้เพิ่มเติมเรื่อง แผนระบบขนส่งอื่นเพื่อเป็นเส้นทางเลือก สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการเปลี่ยนไปเดินทางด้วยระบบอื่น ซึ่งยังไม่ชัดเจนโดยต้องประสานแผนงานร่วมกับ องค์การขนส่งมวลชนกรงเทพ (ขสมก.) ในการวางแผนจัดรถเมล์สำหรับบริการในแต่ละสถานีได้ทันที เมื่อรถไฟฟ้าขัดข้องในสถานีนั้นๆ โดยศูนย์ปลอดภัยคมนาคมเป็นผู้ประสานเมื่อเกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้อง

“ต้องเข้มข้นในทุกมาตรการ การฝึกซ้อมร่วมกันจะทำให้เกิดความรอบคอบและจะต้องเรียนรู้ประสบการณ์ เพื่อนำมาพัฒนาในการแก้ปัญหาต่อๆ ไป เพื่อให้การให้บริการระบบขนส่งมวลชนมีความก้าวหน้า ซึ่งหลังจากแต่ละหน่วยงานฝึกซ้อมร่วมกันแล้วจะมีการฝึกซ้อมใหญ่ร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อีกด้วยเพื่อความเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายอย่างเป็นระบบ” นายอาคมกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น