xs
xsm
sm
md
lg

“โซน่าร์” เร่งสร้างแบรนด์ กรุยรายได้ 1 พันล้านใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.พิจิตรา เรืองวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสายงานพาณิชย์ บริษัท แสงรุ่งเรือง เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
ผู้จัดการรายวัน 360 - ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไทย SONAR จัดงบฯ 100 ล้านบาท รีโนเวตโชว์รูม-สำนักงานใหญ่ เตรียมความพร้อมลุยตลาดปี 60 เดินหมากสร้างแบรนด์พร้อมออกแคมเปญสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงต้นปี ควบคู่กับการพัฒนาแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ครบวงจร หลังเพิ่มสัดส่วนรายได้ถึง 15% คาดปี 59 ทำยอดขาย 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% เผยแผน 5 ปีนำบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมรายได้ 1 พันล้านบาท

น.ส.พิจิตรา เรืองวัฒนไพศาล ผู้อำนวยการสายงานพาณิชย์ บริษัท แสงรุ่งเรือง เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ “SONAR” (โซน่าร์) เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ mai ภายใน 2 ปี ก่อนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ SET ภายใน 5 ปี พร้อมรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท จึงเตรียมออกแคมเปญการตลาดใหม่ๆ เพื่อสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคตั้งแต่ช่วงต้นปี 2560 เป็นต้นไป พร้อมกับกำหนดแผนสร้างแบรนด์อย่างจริงจังมากขึ้นหลังดำเนินธุรกิจมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปี โดยก่อนหน้านั้นถือเป็นผู้ผลิตสินค้าในลักษณะรับช่วงการผลิต (OEM) รวมถึงผลิตสินค้าเฮาส์แบรนด์ให้ไฮเปอร์มาร์เกตชั้นนำต่างๆ เช่น คาร์ฟูร์, แม็คโคร, และเทสโก้ โลตัส เป็นต้น

ในปี 2560 บริษัทฯ ยังมีแผนรีโนเวตโชว์รูมและอาคารสำนักงานใหญ่ ถ.จรัลสนิทวงศ์ 73/1 กรุงเทพฯ บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนโรงงานและคลังสินค้าตั้งอยู่ใน อ.สามพราน จ.นครปฐม บนพื้นที่ 20 ไร่ ยังสามารถผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดได้อีกมาก ขณะที่มีโชว์รูม 2 แห่งคือที่โรงงานและสำนักงานใหญ่

ปัจจุบันบริษัทฯ ดำเนินการผลิตสินค้าประมาณ 20% และนำเข้าจากต่างประเทศ 80% เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยุโรป และอื่นๆ โดยมีสินค้าทั้งหมดประมาณ 3 พันเอสเคยูใน 4 หมวด คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน 40% เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อความบันเทิงในบ้าน (Home Entertainment) 30% เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ 25% และไอที และไลฟ์สไตล์ 5%

น.ส.พิจิตรากล่าวว่า แต่ละปีบริษัทฯ จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ประมาณ 30-40 เอสเคยู โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดคือ เครื่องซักผ้ามินิ ขนาด 3 กก. เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีการพักอาศัยในคอนโดมิเนียมมากขึ้น โดยคาดว่าในปี 2559 จะมีรายได้รวมประมาณ 500 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 20%

“ก่อนหน้านั้นบริษัทฯ ทำการตลาดผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ตและตัวแทนจำหน่ายมากกว่า 3 พันแห่งทั่วประเทศ 100% แบ่งสัดส่วนเป็นกรุงเทพฯ 40% ต่างจังหวัด 60% แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาเริ่มให้ความสำคัญกับช่องทางออนไลน์และอื่นๆ มากขึ้น โดยมีการปรับตัวเป็นมาร์เก็ตเพลซบนแพลตฟอร์มของพันธมิตรธุรกิจ คือ www.lazada.co.th จนประสบความสำเร็จและมีสัดส่วนรายได้ที่เปลี่ยนแปลงเป็นเทรดิชันนัลเทรด 35% โมเดิร์นเทรด 20% ออนไลน์ 15% ทีวีชอปปิ้ง 15% และแคตตาล็อกสินค้า 15%

น.ส.พิจิตรากล่าวอีกว่า การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องมีการปรับตัวเร็วทั้งในเรื่องของราคาและประเภทสินค้าที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและประเทศใกล้เคียง บริษัทฯ จึงมีการพัฒนาระบบช่องทางการซื้อสินค้าออนไลน์ภายใต้แพลตฟอร์มของบริษัทฯ คือ www.sonarshopping.com พร้อมด้วยช่องทางการชำระเงินทั้งในลักษณะการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery) รวมถึงบัตรเครดิต (Credit Card) และบัตรเดบิต (Debit Card) โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบและคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้

“ผู้บริโภคยุคปัจจุบันมีพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงการซื้อสินค้าในลักษณะ O2O คือ Online to Offline หรือ Offline to Online มากขึ้น คือนิยมชมสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนที่จะไปสัมผัสสินค้าจริงทางช่องทางออฟไลน์ หรือโชว์รูม หรืออาจชมสินค้าจริงจากการจัดแคมเปญ หรือโปรโมชั่นต่างๆ แล้วค่อยมาซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออาจมีการอ่านรีวิวสินค้าในช่องทางออนไลน์ก่อนตัดสินใจซื้อ เป็นต้น เพราะฉะนั้นเจ้าของแบรนด์และสินค้าจึงต้องพยายามผสมผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ในลักษณะ หรือ Omni Chanal เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้นและให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์ที่ดีกับแบรนด์และเข้าถึงสินค้าได้อย่างแท้จริง”

น.ส.พิจิตรากล่าวว่า ช่องทางอี-คอมเมิร์ซยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้สินค้าต่างๆ ประเภท Non-Brand รวมถึงสินค้าชายแดน เข้าสู่ตลาดในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น จึงทำให้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่มีการสร้างแบรนด์มักถูกนำไปเปรียบเทียบด้านราคาแทบจะ 100% กับกลุ่มสินค้าเหล่านั้นซึ่งไม่มีการทำการตลาด การรับประกันคุณภาพสินค้า หรือบริการหลังการขายใดๆ ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของแบรนด์จึงต้องยกระดับแบรนด์ตัวเองด้วยการสร้างความรู้ทางการตลาดเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แบรนด์

“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ เน้นการพัฒนาสินค้าโดยให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมเพื่อให้เป็นสินค้าคุณภาพสำหรับผู้บริโภคทั่วไปในตลาดทุกระดับที่มีอายุการใช้งานยาวนาน จึงทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีในตราสินค้าและมีการซื้อประจำอย่างสม่ำเสมอเมื่อต้องการเปลี่ยนสินค้าใหม่ โดยเฉลี่ยมีการซื้อต่อครั้งประมาณ 1 พันบาทจากราคาสินค้าตั้งแต่ 199 บาทจนถึง 1 หมื่นบาทขึ้นไป”

น.ส.พิจิตรากล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงอยู่ในภาวะทรงตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้ว่าสินค้าบางหมวดเริ่มอยู่ในภาวะถดถอยลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะโทรทัศน์ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้งานมัลติสกรีนของผู้บริโภค ในขณะที่สินค้าบางหมวดที่มีการเติบโตส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีความจำเป็น เช่น เครื่องปรับอากาศและพัดลมในช่วงฤดูร้อน เครื่องซักผ้าและเตารีดในช่วงฤดูฝน ส่วนสินค้าที่จำหน่ายดีในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มักเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก เช่น หม้อหุงข้าว เครื่องปิ้งขนมปัง กาต้มน้ำร้อน เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น