กระทรวงคมนคมและกรมทางหลวงชนบท ร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช กับโครงการพระราชดำริ “สะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ สะพานแห่งพระบารมี ซึ่งมีส่วนในการแก้ไขปัญหาจราจรและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
วันนี้ (22ต.ค.59) เวลา 08.00 น. กระทรวงคมนาคมจัดพิธีร่วมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นำคณะผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงคมนาคมทั้ง 21 หน่วยงาน จำนวน 500 คน กล่าวน้อมถวายและวางพวงมาลาหน้าพระบรมรูปทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สวนสุขภาพลัดโพธิ์ บริเวณใต้สะพานภูมิพล ๑ สะพานภูมิพล ๒ จังหวัดสมุทรปราการ จากนั้นจึงลงนามแสดงความไว้อาลัย พร้อมชมพระราชกรณียกิจในพิพิธภัณฑ์วงแหวนอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ในส่วนของกรมทางหลวงชนบท นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท นำคณะข้าราชการและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพิธีดังกล่าว
โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) มีความปีติยินดีเป็นล้นพ้นที่ได้น้อมเกล้าฯ รับสนองพระราชดำริมาดำเนินงาน “สะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒” สะพานแห่งพระบารมี ซึ่งมีส่วนในการแก้ไขปัญหาจราจรและสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับชาวกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนผู้สัญจรที่ใช้เส้นทางดังกล่าว นับเป็นความภูมิใจของกรมที่ได้สนองพระบรมราชโองการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท
สะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒ เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2538 เพื่อเป็นโครงข่ายถนนรองรับการขนถ่ายลำเลียงสินค้าจากท่าเรือกรุงเทพต่อเนื่องไปจนถึงพื้นที่อุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรปราการ และภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศ เพื่อมิให้รถบรรทุกวิ่งเข้าไปในตัวเมืองหรือทิศทางอื่น อันเป็นสาเหตุของการจราจรติดขัดโดยรอบ
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่การกระจายการจราจรไปยังทิศทางต่าง ๆ แต่ยังเชื่อมระหว่างเขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวา กรุงเทพมหานครกับอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดเข้าด้วยกัน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาทั้ง 2 แห่ง โดยด้านทิศเหนือเชื่อมกรุงเทพมหานครกับจังหวัดสมุทรปราการว่า “สะพานภูมิพล ๑” ส่วนด้านทิศใต้เชื่อมอำเภอพระประแดงกับตำบลสำโรงใต้ ได้รับพระราชทานชื่อว่า “สะพานภูมิพล ๒” เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552
โครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม ประกอบด้วยส่วนที่เป็นถนนวงแหวนเชื่อมโยงพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยากับท่าเรือกรุงเทพ ความยาวรวมประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนที่กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างคือสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 2 สะพานต่อเนื่องกับบริเวณคอคอดของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างฝั่งถนนพระราม 3 กับฝั่งถนนปู่เจ้าสมิงพราย ทำให้โครงข่ายถนนวงแหวนอุตสาหกรรมสามารถสัญจรต่อเนื่องครบวงรอบ โดยมีรูปแบบเป็นสะพานขึง ตัวสะพานมีความกว้าง 7 ช่องจราจร ความยาวรวมประมาณ 4.2 กิโลเมตร นอกจากนี้ บริเวณจุดต่อเชื่อมระหว่างสะพานทั้ง 2 แห่ง จะมีทางแยกเป็นทางยกระดับ ความกว้าง 4 ช่องจราจร ความยาวประมาณ 2.2 กิโลเมตร ไปบรรจบกับถนนสุขสวัสดิ์ทางทิศตะวันตกด้วย โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 8,739 ล้านบาทเศษ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและทดลองเปิดใช้สัญจรเมื่อ พ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยเรือพระที่นั่งอังสนา เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 เวลา 16.30 น. ทรงเปิดสะพานภูมิพล ๑ และสะพานภูมิพล ๒ (สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม) และทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมถึง ทรงทอดพระเนตรภาพยนตร์เกี่ยวกับการก่อสร้างสะพานฯ และประตูระบายน้ำ โดยมีนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท อธิบดีกรมชลประทาน (ในขณะนั้น) เฝ้ารับเสด็จ