xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตไบโอดีเซลลุ้นต่อไป หวังรัฐจะไม่คงนโยบายบี 3 ลากยาวถึง พ.ค. 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ผลิตไบโอดีเซลมึนรัฐยังคงนโยบายผสมบี 100 ในดีเซลเป็นบี 3 คงเดิม ลุ้นเพิ่มสัดส่วนผสมยังไม่เป็นความจริง แถมท่าทีรัฐยังผวาหนัก หวั่นลากยาวถึง พ.ค. 2560 งานนี้มีเจ๊งแน่ ยันต้นตอปัญหาเกิดจากโรงสกัดที่มีมากเกินไปทำให้แย่งซื้อตัดราคา ดันต้นทุนรวมพุ่ง หวังอนาคต พ.ร.บ.ปาล์มฯ จะเข้ามาแก้ไขให้ยั่งยืนได้

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตไบโอดีเซล (บี 100) ที่มีอยู่ประมาณ 12 รายยังคงรอนโยบายจากรัฐบาลว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผสมบี 100 ในดีเซล จากปัจจุบันที่ถูกปรับลดลงมาผสมเหลือ 3% (บี 3) กลับไปเป็นบี 5 หรือบี 7 ได้เมื่อใด ซึ่งยอมรับว่าผู้ผลิตมีความวิตกมากกับท่าทีของรัฐที่ขณะนี้มองว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ยังค่อนข้างสูงอาจกระทบต่อผู้บริโภคทั้งน้ำมันพืชและไบโอดีเซลที่ต้องจ่ายแพงขึ้น ดังนั้น เมื่อดูจากสต๊อก CPO ที่มีขณะนี้ 2.5 แสนจากนี้ไปก็จะลดลงเพราะหมดช่วงฤดูปาล์ม โดยฤดูผลิตใหม่จะเริ่มช่วงไตรมาสแรกและสต๊อกจะกลับมาสูงปกติก็น่าจะเริ่มช่วง พ.ค.-มิ.ย. 2560 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงผู้ผลิตไบโอดีเซลคงจะลำบาก รายใดที่สายป่านไม่พออาจต้องประสบภาวะขาดทุน

“รัฐได้ลดสัดส่วนบี 7 เป็นบี 3 ตั้งแต่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ผู้ผลิตบี 100 ที่มีอยู่ต้องลดกำลังการผลิตเฉลี่ยเหลือเพียง 25% ขณะนี้ก็ใช้วิธีเดินๆ หยุดๆ พยุงกันไปแต่หากรัฐไม่ขยับสัดส่วนการผสมเพิ่มขึ้นจะเป็นบี 5 หรือบี 7 ลากยาวไปจนถึงปีหน้าเชื่อว่าธุรกิจนี้คงขาดทุนถ้วนหน้า แต่หากสายป่านไม่ยาวหรือไม่มีธุรกิจอื่นมาเสริมก็คงต้องปิดตัวแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงานยังเห็นควรคงสัดส่วนเป็นบี 3 และรัฐเองมองว่ามีความผิดปกติและมีไอ้โม่งปั่นราคาแม้ว่าสต๊อก CPO สูงถึง 2.5 แสนตัน ราคาตลาดโลกก็ต่ำ แต่ราคาในประเทศกลับมีราคาที่สูง โดยราคาผลปาล์มดิบยังสูงถึง 6 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่ CPO ราคาประมาณ 30-31 บาทต่อลิตร และราคาบี 100 อยู่ที่ประมาณ 33.38 บาทต่อลิตร โดยเรื่องนี้ปัญหาที่เกิดมาจากจำนวนโรงสกัด CPO ที่มีอยู่กว่า 100 แห่ง มีกำลังผลิตที่มากกว่าการผลิตปาล์มในประเทศ 4 เท่าตัว จึงมีการแข่งขันซื้อปาล์มมาสกัดเพื่อให้โรงงานของตนเดินเครื่องจักรต่อไป ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกรย่อมได้รับผลดีที่ราคาปาล์มทะลายแพงต่อเนื่อง

“มาเลเซียโรงสกัดเขามีสัดส่วนที่เหมาะสมจึงทำให้ระบบโดยรวมอยู่ได้ ขณะที่บ้านเราพอโรงสกัดแย่งกันซื้อก็ทำให้ต้นทุนโดยรวมสูงกว่ามาเลเซียนี่คือปัญหา แต่เมื่อถามว่าถ้าเจ๊งแล้วทำยังเกิดขึ้นอยู่ก็เพราะธุรกิจไทยพอเห็นใครทำดีแล้วก็จะเข้ามาก็เป็นอย่างนี้ เพราะก่อนหน้าราคาปาล์มถูกโรงสกัดเลยเกิดขึ้นจนเป็นปัญหา ซึ่งหากไปดูจะพบว่าโรงสกัดหลายแห่งเริ่มบอกขายกิจการก็มีที่ผ่านมาก็เจ๊งไปก็ไม่น้อย ขณะเกษตรกรบางส่วนก็ไม่เพิ่มผลผลิตต่อไร่หรือยิลด์แต่เน้นราคาต้องอยู่ได้ซึ่งถือว่าสูงกว่าตลาดโลก” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.น้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ……ที่กำลังอยู่ระหว่างการยกร่างเป็นกฎหมายนั้นจะมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มในไทยทั้งระบบที่เน้นตั้งแต่การบังคับเกษตรกรขึ้นทะเบียน มีการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกให้มีความเหมาะสมและที่ตั้งโรงสกัดเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง ฯลฯ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นว่าหากกฎหมายนี้มีผลจะมีส่วนทำให้ปัญหาทั้งหมดถูกทยอยแก้ไขและทำให้มีความยั่งยืนได้ในระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น