xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตั้งเป้าเพิ่มการค้ากับอิหร่านเป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 64 พร้อมจี้เปิดตลาดข้าวให้ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เดินหน้าขยายการค้าการลงทุนกับอิหร่าน ตั้งเป้าเพิ่มการค้าเป็น 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 64 พร้อมเร่งศึกษาทำความตกลงสิทธิพิเศษทางภารค้า เพื่อเปิดตลาดสินค้าระหว่างกัน ตั้งเป้าแล้วเสร็จกลางปี 60 “อภิรดี” ขออิหร่านเร่งตรวจสอบมาตรฐานข้าวไทย หวังขยายการส่งออกให้ได้ปีละ 7 แสนตันเหมือนช่วงก่อนโดนคว่ำบาตร เผยอิหร่านยังสนนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงจากไทยเพิ่ม และต้องการร่วมมือด้านการลงทุน โดยเฉพาะด้านพลังงาน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-อิหร่าน ร่วมกับนายโมฮัมหมัด เรซา เนมัทซาเด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เหมืองแร่ และการค้าของอิหร่าน ว่าทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือถึงแนวทางกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า โดยตั้งเป้าหมายผลักดันการค้าร่วมกันให้ได้ถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2564 และยังตกลงจะให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงสิทธิพิเศษทางการค้า (Preferential Trade Agreement - PTA) เพื่อเร่งเปิดตลาดสินค้าระหว่างกันซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการขยายการค้า การลงทุน และความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยคาดว่าการศึกษาดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในกลางปี 2560 ส่วนในระหว่างนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุนกิจกรรมทางการค้าและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในการหารือครั้งนี้ไทยได้ขอให้อิหร่านเร่งรัดการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานข้าวไทยเพื่อให้ไทยสามารถส่งออกข้าวไปยังอิหร่านได้โดยเร็วที่สุด โดยตั้งเป้าที่จะขยายการส่งออกข้าวไปยังอิหร่านให้ถึง 7 แสนตันต่อปี เหมือนช่วงก่อนอิหร่านโดนมาตรการคว่ำบาตร และทางอิหร่านยังแจ้งว่ามีความต้องการนำเข้าสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม ผลไม้เมืองร้อน อาหารทะเล ยางพารา เป็นต้น และต้องการที่จะส่งออกถั่วพิตาชิโอและฟิกซ์มาไทย

นอกจากนี้ ไทยได้แจ้งว่าพร้อมที่จะนำเข้าน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติจากอิหร่าน รวมถึงผลิตภัณฑ์พลังงานอื่นๆ เช่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งต้องการเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานร่วมกับอิหร่าน และพัฒนาความร่วมมือในพลังงานทางเลือกกับอิหร่าน โดยทั้งสองประเทศได้ตกลงที่จะรื้อฟื้นความร่วมมือทางด้านพลังงานหลังจากที่ได้มีการลงนามมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งไทยพร้อมเดินหน้าเป็นเจ้าภาพการประชุมคณะทำงานร่วมด้านพลังงานในต้นปีหน้า เพื่อหารือและส่งเสริมภาคพลังงานระหว่างกันโดยเฉพาะ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้อิหร่านต้องการให้มีความร่วมมือและการลงทุนจากไทยในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อาหารแปรรูป สิ่งทอ และอัญมณี เป็นต้น รวมทั้งจะพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันทางด้านมาตรฐานฮาลาลและส่งเสริมการท่องเที่ยว และยังได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนของกลไกการชำระเงินในการทำการค้ากับอิหร่าน เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ในระหว่างการประชุมได้มีการจัดกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจระหว่างเอกชนอิหร่านและเอกชนไทย กว่า 100 ราย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การค้าการลงทุนระหว่างไทยกับอิหร่านเติบโตได้อีกมาก

ปัจจุบันไทยและอิหร่านมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน และภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ไทยได้ดำเนินการสานความสัมพันธ์ทวิภาคีกับอิหร่านมาอย่างต่อเนื่อง โดยอิหร่านเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 9 ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในปี 2558 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 310 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า อิหร่านเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลางที่มั่งคั่งด้วยแหล่งพลังงาน (น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ) และมีศักยภาพในการเป็นฐานกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาค CIS ซึ่งไม่มีทางออกทะเล และในปัจจุบัน อิหร่านมีการจัดทำ PTA แล้วกับปากีสถานและตุรกี และอยู่ระหว่างการหารือจัดทำ PTA กับจีน อินเดีย และยูเรเซีย (เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน อาร์มีเนีย และรัสเซีย)
กำลังโหลดความคิดเห็น