xs
xsm
sm
md
lg

คุยกับ “คนทะเลเกาะหลีเป๊ะ” ในวันหวังให้ “คสช.” ช่วยแก้ปัญหาที่ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางแส้หนา เกาะสิเร๊ะ ชาวอูรักลาโว้ย วัย 60 ปี นางรำรองเง็งประจำชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ 1 ในคนทะเลที่เล่าเรื่องราวให้ฟัง
 
โดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
 
“ตามที่คุณดารา อังโชติพันธุ์ ได้อนุญาตให้คุณปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยบนที่ดิน น.ส.3 ทะเบียนเลขที่ 11 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ขณะนี้คุณดารา และบุตรต้องการจะใช้ที่ดินเพื่อจัดสร้างรีสอร์ต และมีความจำเป็นจะต้องจัดสร้างภูมิทัศน์ให้สวยงามเพื่อรับรองนักท่องเที่ยว ข้าพเจ้าในฐานะทนายผู้รับผิดชอบจึงขอให้คุณรื้อถอนบ้านภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ หากคุณไม่ดำเนินการภายในกำหนด ข้าพเจ้ามีความจำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อคุณตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป”
 
ข้างต้นเป็นข้อความในหนังสือแจ้งเตือนให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินที่ทนายความรายหนึ่งส่งถึง นางแส้หนา เกาะสิเร๊ะ ชาวอูรักลาโว้ย วัย 60 ปี นางรำรองเง็งประจำชุมชนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล เช่นเดียวกับชาวบ้านอีกหลายรายที่กำลังเผชิญปัญหาเดียวกัน ภายหลังการท่องเที่ยวเติบโต พวกเขากลายเป็นพลเมืองที่ขวางภูมิทัศน์ของนักท่องเที่ยว
 
“ย้ายมา 7 ครั้งแล้ว บ้านรื้อแล้วรื้ออีก มาทุกครั้งก็มาถางป่าสร้างบ้านเล็กๆ ให้ย้ายอีกไม่ย้ายแล้ว ฉันจะอยู่นี่ ให้ไปที่ไหนได้ กำแพงสูงๆ เขาก็สร้างขวางกั้น ลงทะเลก็ลงไปไม่ได้ เมื่อก่อนซ้ายก็ทะเล ขวาทะเล ลงไปได้ ไปรำรองเง็งกลางแสงจันทร์สว่างๆ เมื่อก่อนที่ดินไม่มีใครเป็นเจ้าของ ทะเลไม่มีเจ้าของ เราเล่นรองเง็งกันดึกดื่น ในงานลอยเรือเราสนุกกันมาก เด็กๆ วิ่งได้ทุกที่ คนแก่ๆ ก็ร่วมร้องรำทำเพลง ไม่เคยมีใครมาอ้างเป็นเจ้าของที่....
 
“ตอนนี้เขามาอ้างว่ามี น.ส.3 แต่เราก็ไม่เคยเห็นว่าเป็นยังไง ย้ายไม่ไหวแล้วเนี่ย เมื่อก่อนเรายอมย้าย เพราะเห็นว่านักท่องเที่ยวมา เราก็มีรายได้บ้าง แต่ไม่เห็นจะดีขึ้น เราเลยตกลงกันแล้วว่า รอเขาลากตัวขึ้นศาลอย่างเดียว ไม่รู้เหมือนกันจะถูกศาลสั่งติดคุกไหม เอาเข้าคุกก็ต้องเข้ามั้ง”
 
ป้าแส้หนา เล่าเชิงประชดประชันวิกฤตที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ
 
จบบทสนทนาช่วงแรก ป้าแส้หนา พาเข้าไปนั่งพักในบ้าน ที่ถูกศิลปินรายหนึ่งแต่งแต้มสีสันด้วยรูปเหมือนของเธอในชุดรำรองเง็ง ดูโดดเด่นกว่าบ้านหลังอื่นในชุมชน “ปาดัก” ในฐานะนางรำรองเง็งสูงอายุที่ยังดำรงวัฒนธรรมเดิมอยู่
 

 
“เนี่ยเขาทาสีน้ำเงินเข้มๆ รู้ไหมแปลว่าอะไร แปลว่าน้ำทะเลไง เราชาวเลก็อยู่กับทะเล แต่งตัวสวยๆ เล่นรองเง็ง ” 
 
เธอโอ้อวดบ้าน และผลงานของศิลปินที่สร้างผลงานให้เธออย่างภูมิใจ พร้อมอธิบายความเป็นมาของชุมชนปาดักว่า “ปาดัก” เป็นภาษาอูรักลาโว้ย แปลว่า ข้างหน้า ด้านหน้า ฉากหน้า รุ่นเก่าแก่เรียกชื่อนี้เพราะเป็นชุมชนที่มีจุดเชื่อมต่อกับหน้าทะเล ทว่า ภายหลังถูกไล่รื้อทุกคนต้องยอมย้ายมาอยู่ด้านหลังของที่พักหรูหลายแห่ง
 
โดยเริ่มต้นจากการถางป่า ตัดหญ้า สร้างบ้านใหม่ และซื้อน้ำไฟจากเอกชนมาใช้ โดยวิถีชีวิตของชาวเลในปัจจุบัน หากไม่ยอมย้าย หรือรื้อถอนแล้วย้ายไปที่อื่น ผู้ชาย และเด็กวัยรุ่นจะหารายได้ด้วยวิธีขับเรือรับจ้าง ออกทะเลหาปลาบางเวลา ส่วนผู้หญิงเวลาส่วนมากไปกับการรับจ้างทำความสะอาดรีสอร์ต และเป็นลูกมือของพ่อครัวแม่ครัวในโรงแรม
 
“เราแก่แล้ว รับจ้างเขาไปวันๆ ส่วนหลานๆ ออกไปดำปลิงทะเลที่เกาะอาดัง ได้มาขายไม่กี่ร้อยบาท พอใช้ชีวิตไปแต่ละวัน รายได้เสริมก็เป็นช่วงนักท่องเที่ยวมากันมาก เราจะไปเล่นรองเง็งได้รายได้รวมกันครั้งละ 2,000 บาท แบ่งกันคนละ 100-200 บาท แต่ไม่สนุกเหมือนเล่นในงานลอยเรือนะ...
 
“เราเล่นในงานลอยเรือคนทะเลด้วยกันจะสนุก จะเข้าใจจังหวะรองเง็ง เราเล่นให้นักท่องเที่ยวดูเขาก็เพลินๆ แต่ไม่ได้มาร่วมร้อง หรือรำกับเรา คงไม่เข้าใจภาษาบ้านเรา แต่ต้องทำเพราะออกทะเลไม่ได้เหมือนตอนเป็นสาว ทางออกทะเลก็ถูกปิดกั้น เส้นทางเข้า-ออกหมดเกาะแล้ว เราไม่รู้เมื่อไหร่กำแพงรีสอร์ตจะสร้างไล่ที่เราอีก
 
นางรำสูงวัยเปรียบเทียบชีวิตเดิมกับปัจจุบันที่แตกต่าง
 

 
ไม่ใช่แค่บ้านเรือน และถนนในชุมชนเท่านั้นที่ปิดกั้น ชาวเลเป็นพลเมืองชั้นสอง แต่พื้นที่จิตวิญญาณอย่างสุสานฝังศพเก่าของ “โต๊ะคีรี” บรรพบุรุษคนแรกที่บุกเบิกที่ดินเกาะหลีเป๊ะ และบรรพบุรุษอีกหลายราย ต่างก็ยังถูกปิดล้อมด้วยกำแพงสูง ไม่ให้กลายเป็นพื้นที่ทำลายทัศนียภาพ หรือกระทั่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างสำนักสงฆ์เก่าก็กลายเป็นสำนักสงฆ์ร้างมาหลายปี
 
“บ่อน้ำจืดที่ชุมชนร่วมสร้างมา รีสอร์ตดังก็ยึดไปทำบ่อเก็บน้ำประปาถาวรเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ส่วนชาวเลต้องซื้อน้ำจากเขา หรือไม่ก็เจาะบาดาลมาใช้” 
 
นางสลวย หาญทะเล หนึ่งในชาวเลอูรักลาโว้ย ที่ร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินอธิบาย ขณะเดินสำรวจรอบๆ ชุมชน
 
นางสลวย หญิงวัยกลางคนอายุประมาณ 40 กว่าปี เกิดที่เกาะหลีเป๊ะ ย้อนความให้ฟังว่า เดิมทีที่ดินเกาะหลีเป๊ะไม่มีใครมีเอกสารสิทธิ เพราะโต๊ะคีรีแบ่งที่ดินให้ลูกหลานเท่าๆ กัน แต่แล้วพอมารุ่นหลังการท่องเที่ยวเริ่มเติบโตขึ้น ทายาทอูรักลาโว้ยบางคนก็กลับกลายเป็นคนโลภ แล้วมองธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหลัก บ้างปล่อยเช่า บ้างขายต่อนายทุน เปลี่ยนมือไปเรื่อย ที่ดินบางแห่งก็ไร่ละ 10 ล้านกว่า กรณีติดทะเลนะ ทำให้ชาวเลเริ่มเจอกับปัญหาชุมชนแออัด
 
“ช่วงเดือนที่ผ่านมา ตอนที่หลายคนถูกขู่ทำร้าย มีทหารเข้ามาเจรจาให้ แล้วสั่งห้ามเอาเครื่องจักรมาใช้ในชุมชน ห้ามขุดลอก และห้ามเอกชนปรับปรุงที่ดิน ก่อนที่จะมีการคณะทำงานแก้ปัญหาชาวเลมาลงพื้นที่อย่างจริงจัง ตามอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ...
 
“แต่รีสอร์ตบางแห่งก็ทำ บางคนก็เอาหิน เอาทรายมาวางไว้ ใกล้ๆ บ้านของฉัน และบ้านของมะแส้หนา ก็จะถูกทำเป็นแหล่งเก็บขยะ ไม่รู้ทำไมเขาถึงใจร้ายกับเราเหลือเกิน”
 
นางสลวย พร่ำถึงชะตาชีวิตที่ต้องต่อสู้กับทุนนิยมสามานย์
 

 
“แม้ชีวิตของชาวชุมชนปาดักกว่า 100 หลังคาเรือน กำลังเผชิญมรสุมอย่างหนักก็ตาม แต่พวกเราก็ยังมีความหวังว่าจะสามารถกอบกู้ที่ดินผืนที่เหลือให้รอดพ้นจากนายทุนได้ แม้ขณะนี้รีสอร์ตหลายแห่งเริ่มพัฒนาตัวเอง พร้อมพยายามก่อกำแพงกั้นทางเดินลงทะเล และพยายามจ่ายเสนอเม็ดเงินเพื่อให้ชาวบ้านรื้อถอนบ้านออกจากพื้นที่ก็ตาม ยังมีหลายคนที่ยังไม่ยอมศิโรราบต่อเม็ดเงินเหล่านั้น”
 
นางกัลยา กันทิศ ชาวอูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังติดกับโรงเรียนบ้านอาดังมานานกว่า 40 ปี และมีทางเดินเชื่อมลงทะเล เล่าว่า เธอเคยถูกนายทุนมาเจรจาเสนอเงินให้รื้อบ้านถึง 3 ราย รายแรกเสนอเงินประมาณ 400,000 บาท รายที่ 2 เสนอ 250,000 บาท รายล่าสุดให้ 80,000 บาท แต่เธอกับสามีไม่ยอม หลายครั้งจึงมีคนแปลกหน้าแวะเวียนมาที่บ้านเพื่อข่มขู่ และส่งจดหมายเตือนหลายครั้ง
 
“เรายังไม่กล้าไปไหน เมื่อเดือนที่แล้วมีคนยอมรื้อบ้านไปบ้างแล้ว 2 คน ละแวกบ้านเราเหลือไม่ถึง 10 หลัง บางครั้งฉันก็คิดมากจะเอาเงินไปรักษาตัวเองดีไหม เพราะเป็นโรคหัวใจอยู่ แต่หากเอาเงินแล้วเงินไม่ถึงแสนจะสร้างบ้านได้ไง ฉันไม่อยากจะเสียบ้านไปแล้ว...
 
“ทุกวันนี้เขาไม่กล้ารื้อโดยตรง อาจเพราะกลัวว่าโรงเรียนจะเสียหาย เรื่องจึงเงียบไปสักพัก แต่หากเขาหมดความศรัทธาในโรงเรียน ไม่รู้เช่นกันว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะคนที่อ้างเอกสารสิทธิ เราทุกคนไม่เคยเห็นเอกสารเลยสักครั้ง อยากให้มีการตรวจสอบที่แน่ชัดมากกว่านี้” 
 
นางกัลยา ระบายความรู้สึก
 

 
เสียงจากชาวบ้านหลายคนยืนยันว่า การซื้อขายที่ดินไม่ชอบธรรม ไม่ถูกต้องตามกฎหมายการครอบครองที่ดิน มีขบวนการปลอมแปลงเอกสารจากการเปลี่ยนเจ้าของที่ดิน หากเป็นจริง หวังว่านโยบายการจัดระเบียบที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ของคณะรักษาความงบแห่งชาติ (คสช.) และการลงพื้นที่ของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล เพื่อประชุมร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมที่ดิน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมเจ้าท่า ทหารเรือ ตำรวจ เข้าร่วมตรวจสอบรังวัดที่ดิน เพราะที่ผ่านมา ก็คงจะพอเป็นจุดเริ่มต้นของการฟังเสียงรากหญ้าบ้าง และเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้ใช้ชีวิตอย่างมีตัวตนบ้าง ไม่ใช่สิ่งกีดขวางภูมิทัศน์อย่างที่เป็นอยู่

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น