xs
xsm
sm
md
lg

“6 เทรนด์...ต้องห้ามพลาด! ของแม่ Gen M”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“รักลูก” สรุปผลวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมเรื่องการเลี้ยงลูกจากแม่ทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,000 ราย ที่มีอายุอยู่ในช่วง 21-35 ปี โดยเป็นกลุ่มที่เรียกว่า Millennial Generation (Gen M) เพื่อรู้จักตัวตนของแม่ GEN M อย่างเข้าใจ และพูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มและทิศทางของแม่ GEN M ในด้านต่างๆ เช่น พฤติกรรมการบริโภค การใช้สื่อ รวมไปถึงวิธีการเลี้ยงลูก เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจและสามารถตอบสนองความต้องการของแม่ยุคใหม่ได้อย่างตรงใจ

“งาน Trend of Thai Millennial Moms เข้าถึง เข้าใจ ไทยมิลเลนเนียลมัม” โดยแบรนด์รักลูก กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) จัดขึ้นที่โรงภาพยนตร์ VIP6 พารากอนซีนีเพล็กซ์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน โดย นางสาวชนิดา อินทรวิสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด ในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า "ประสบการณ์กว่า 34 ปีของรักลูก ทำให้เรารู้จักและเข้าใจคุณพ่อคุณแม่มาหลายเจเนอเรชัน รักลูกจึงเป็นผู้นำด้านองค์ความรู้เพื่อการเลี้ยงลูกที่ได้รับความไว้วางใจจากแม่ไทยทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป นอกจากรักลูกจะปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจและพฤติกรรมผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์ Eco System ที่มุ่งพัฒนาคอนเทนต์เชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์มทั้ง Offline, Online และ On groundแล้ว เรายังไม่หยุดนิ่งในการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับสังคม เพื่อปักธงความเป็นผู้นำด้าน Parenting & Family อย่างแท้จริง

การนำเสนอผลวิจัย 6 เทรนด์แม่ไทยในครั้งนี้เพื่อทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายแบบเจาะลึก เพราะแม่ไทยยุคนี้กับเมื่อ 10 ปีที่แล้วย่อมไม่เหมือนกัน เนื่องด้วยบริบทของสังคมและเทคโนโลยีที่แตกต่าง พร้อมทั้งนำเสนอภาพอนาคตของสังคมและครอบครัวไทย เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งนักการตลาด สื่อมวลชน และผู้สนใจเรื่องการพัฒนาครอบครัว ได้เข้าใจทัศนคติและมุมมองของแม่ Gen M ที่มีต่อเรื่องต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าเทรนด์ต่างๆ เหล่านี้จะเป็นข้อมูลให้ทุกคนมองเห็นทิศทางของครอบครัวไทย และเป็นเครื่องมือทางการตลาดชั้นดีในการเตรียมความพร้อมและนำเสนอสิ่งที่แม่ยุคมิลเลนเนียลต้องการได้อย่างตรงจุด"

ภายในงานได้มีการนำเสนอผลการวิจัยแม่ GEN M หรือ Millennial MOM ที่มีอายุระหว่าง 21-35 ปี (คนเจนเอ็ม คือผู้ที่เกิดระหว่างปี ค.ศ. 1980-1999 *US chamber of commerce) โดยคุณพิมพ์ฐณัช ภฐณวาณิชกุล ผู้จัดการศูนย์วิจัย สถาบันอาร์แอลจี ได้นำเสนอ 6 เทรนด์ต้องห้ามพลาดของแม่ GEN M ที่สรุปได้จากการทำวิจัยแม่ไทยทั่วประเทศ จำนวนกว่า 2,000 คน โดยวิธีการสำรวจทัศนคติเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากช่องทางออนไลน์ "เราพบว่าแม่ GEN M มีทัศนคติต่อการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันที่น่าสนใจ และสามารถสรุปเป็นเทรนด์ได้ 6 เรื่อง คือ

1. WOMOM Phenomenon จะเป็น"ผู้หญิง" หรือเป็น "แม่" ฉันก็ยังคงเป็นตัวเองนี่แหละ
เมื่อก่อนเราเชื่อว่าผู้หญิงจะเป็นเด็กสาว เป็นแฟน เป็นภรรยา และเป็นแม่ โดยผลัดกันไปทีละช่วงชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเป็นแม่แล้ว หลายคนอาจละทิ้งตัวตน ความคิดความฝันของตัวเองไปอยู่ที่ลูกเกือบทั้งหมด แต่ ณ ตอนนี้ เป็นยุคที่ผู้หญิงผสมผสานความเป็นแม่ และความเป็นตัวของตัวเองไว้ด้วยกัน โดยไม่ต้องแยกกันเหมือนเป็นคนละคน เราจึงเห็นแม่ยุคใหม่ คือผู้หญิงที่มีลูกโดยที่เธอยังไม่สูญเสียจุดยืนของตนเอง เธอยังมีความคิด ความต้องการ และใช้ชีวิตอย่างที่ผู้หญิงทั่วไปต้องการเหมือนสมัยก่อนจะมีลูก คุณจึงพบคุณแม่หุ่นดี ออกกำลังกายเต็มที่ รับประทานอาหารออร์แกนิก อาหารมังสวิรัติ ท่องเที่ยวเปิดโลกแม้ท้องโต หรือมีรถเข็นเบบี๋ไปด้วย ใส่ชุดแฟชั่นแทนชุดแม่ท้องเชยๆ แต่งหน้าสวยเบาๆ แม้จะเข้าห้องคลอด ฯลฯ โดยไม่รู้สึกว่าทำอะไรผิดแปลก และมีความสุขกับสิ่งที่เธอทำทั้งหมดนี้ เพราะคุณแม่ Gen M ภูมิใจในตัวเองพร้อมๆ ไปกับภูมิใจในความเป็นแม่นั่นเอง

WOMOM Phenomenon
แม่ยุคปัจจุบัน ไม่ได้มองว่าคนท้องคือคนป่วย แค่มีลูกและยังสามารถทำอะไรต่ออะไรที่เคยทำได้ แม้แต่การออกกำลังกาย ถ้าหากมีท่าทางที่เหมาะสมและได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก็สามารถที่จะทำได้ (77%) อีกทั้งการดูแลตนเอง เช่น การดูแลน้ำหนัก รูปร่าง (72%) การแต่งตัวสวยงามตามแฟชั่น (91%) ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะหากแม่มีความสุข ลูกในครรภ์ก็จะมีความสุขด้วย

ถ้าพูดถึงสินค้าออร์แกนิก แม่ 69% บอกว่ายอมจ่ายเพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของตนองและลูก แม้ว่าส่วนใหญ่สินค้าจะราคาสูง ในขณะที่ 29% ทราบดีว่าสินค้าออร์แกนิกดีอย่างไร แต่เพราะราคาสูงจึงไม่ได้ซื้อ นอกจากนี้เมื่อพูดถึงสินค้าออร์แกนิก แม่ 98% ตอบว่าคำนึงถึง "สุขภาพ" เป็นเรื่องหลัก ในขณะที่อีก 58% คำนึงถึงทั้งเรื่อง สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นทาง www.rakluke.com ว่าคุณแม่เข้าใจคำว่าออร์แกนิกดีแค่ไหน แม่ 82% มีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ออร์แกนิกคือ ต้องมีส่วนประกอบทุกอย่างจากธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีใดๆเลย และไม่ก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิต
สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบัน RLG
2. 7 to 7 GRAN (nan) NY Hours เรื่องเลี้ยงลูกไว้ใจปู่ย่าตายายที่สุด
กลุ่มแม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงทำงาน ดังนั้นชีวิตของเธอจะพัวพันระหว่างเวลาทำงาน (Office Hours) กับเวลาของความเป็นแม่ ( Mother Hours) โดยเธอจะได้เลี้ยงลูกด้วยตัวเองก่อนเวลาเข้างานและเวลากลับบ้านเท่านั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะเห็นผู้หญิงยุคนี้เป็น Drive Thru Mom คือจอดรถส่งลูกสู่มือคนเลี้ยงในเช้าตรู่และแวะรับก่อนกลับบ้าน โดยคุณแม่กลุ่มนี้จะฝากลูกให้คนที่ไว้เนื้อเชื่อใจเป็นผู้เลี้ยงดู โดยเฉพาะปู่ย่าตายาย ซึ่งใกล้ชิดสนิทสนมที่สุด รองลงมาจึงเป็นญาติมิตร สถานรับเลี้ยงเด็ก ไปจนถึงพี่เลี้ยงเด็ก จนอาจเรียกได้ว่า 7 โมงเช้า ถึง 1 ทุ่ม เป็น 7 to 7 GRAN (nan) NY Hours เวลาของปู่ย่าตายายเช่นเดียวกัน

7 to 7 GRAN (nan) NY Hours
แม้ว่าแม่ส่วนใหญ่จะเลี้ยงลูกด้วยตนเอง (45.23%) หรือมีคนช่วยเลี้ยงบ้าง (20.93%) แต่ถ้าถามถึงคนที่ไว้ใจให้ดูแลลูก แม่ร้อยละ 82.08 ตอบว่าปู่ย่าตายาย ซึ่งแสดงถึงการเห็นความสำคัญของผู้เป็นปู่ย่าตายาย ที่มีความหมายถึงความปลอดภัยอุ่นใจเมื่อลูกอยู่กับปู่ย่า มากกว่าญาติคนอื่นๆ นอกจากนี้ผลการวิจัยยังบอกว่า แม่ไทยไม่ใช้พี่เลี้ยงเด็ก (85.47%) สาเหตุหลักเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย 69.79% รองลงมาคือเรื่องของการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย 35.83%

แต่หากต้องหาคนมาช่วยเลี้ยงลูกแล้ว แม่จะพิจารณาเรื่องของความไว้ใจ เชื่อใจมาเป็นอันดับแรก (33.08%) รองลงมาคือ มีประสบการณ์ตรงในการเลี้ยงดู 28.52% และความเป็นมืออาชีพที่ได้รับการอบรมมาเป็นอย่างดีเรื่องการเลี้ยงเด็ก 23.31% ซึ่งการเลือกปู่ย่ามาเป็นผู้ช่วยเลี้ยงลูก แสดงให้เห็นถึงระบบสายสัมพันธ์แบบไทยที่ยังมีความหมายอยู่ ไม่ว่าสังคมจะมีบริบทแบบครอบครัวเดี่ยวหรือครอบครัวขยายก็ตาม
รฐิยา อิสระชัยกุล Facebook Thailand
3. No Rule is New Rule. แม่ไม่ได้แหกกฎ แค่เปลี่ยนบริบทของคำว่า "ดีที่สุด"
บนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย นิยามของความเป็นแม่ได้ถูกบัญญัติใหม่ด้วยเงื่อนไขความเป็นจริงมากขึ้น อีกทั้งเปิดกว้างขึ้นตามวิสัยทัศน์ มุมมอง และความเชื่อที่กว้างไกลและหลากหลายจากเดิม ความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่วิถีแห่งศรัทธา พิธีกรรม หรือกุศโลบายทางคติชุมชนต่างๆ จึงทำให้ผู้หญิงยุคนี้อาจมีวิธีปฏิบัติต่อตัวเองในฐานะแม่และลูกๆ ของเธอต่างจากยุคคุณแม่ คุณยาย คุณทวด ของเธอมาก เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงก็ใส่สีชมพูได้เหมือนกัน กางเกงไม่ได้จำกัดเฉพาะเด็กชาย แม่ไม่อายที่จะให้นมลูกในที่สาธารณะ เด็กๆ อาจไม่ต้องเข้าโรงเรียนแต่ได้อยู่โฮมสกูล หรือเด็กพิเศษไม่ต้องถูกเก็บซ่อนไว้ในบ้าน…

แต่อย่างไรก็ตาม แม่ในทุกยุคทุกสมัยก็ยังคงตั้งมั่นในการเฟ้นหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ลูกของเธอ ดังนั้นสิ่งที่เธอทำไม่ใช่การแหกกฎเก่าๆ แต่เธอแค่เปลี่ยนบริบทของคำว่า "ดีที่สุด" ไปจากเดิมเท่านั้นเอง

No Rule is New Rule.
แม่ GEN M มองโลกอย่างเข้าใจ และยอมรับความเป็นไปของโลก เข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละคน ทำให้แม่เข้าใจว่า การเป็นแม่ไม่ได้หมายถึงความสมบูรณ์แบบเสมอไป อีกทั้งโลกปัจจุบันเปิดกว้างมากขึ้น ยอมรับในสิ่งที่แม่ทำ และแม่เป็น โดยผลการสำรวจได้ถามถึงทัศนคติที่แม่มีต่อเรื่องการเลี้ยงลูก ผลที่ออกมาแสดงให้เห็นถึงความเข้าใจ การเปิดกว้าง ยอมรับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากขึ้น เช่น
• มีความรู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกเมื่อเห็นเด็กผู้ชายเล่นตุ๊กตา และเด็กผู้หญิงเล่นหุ่นยนต์ (77.11%)
• หากลูกต้องเรียนร่วมกับเด็กพิเศษ แม่ร้อยละ 71.80 จะอธิบายให้ลูกเข้าใจเรื่องความแตกต่าง รองลงมาร้อยละ 69.52 ตอบว่าสนับสนุนให้ลูกช่วยเหลือเพื่อนเท่าที่ทำได้
• แม่จะรอให้ลูกโตถึงวัยอนุบาลก่อนจึงจะหาโรงเรียนให้ลูก (69.31%) และแม่จะเลือกโรงเรียนคุณภาพดีปานกลาง ชื่อเสียงไม่ต้องมาก แต่ใกล้บ้านให้ลูก (51.84%) ใกล้เคียงกับคนที่ให้ความสำคัญทั้งชื่อเสียงของโรงเรียนกับการเดินทางไปกลับของลูก 42.84% แสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน ที่ลูกจะต้องเรียนโรงเรียนที่ดีมีชื่อเสียงที่สุดเท่านั้นถ้าเป็นไปได้ และในยุคก่อนแม่จะรีบหาโรงเรียนและจองที่นั่งของลูกตั้งแต่ยังเล็ก
• แม่ส่วนใหญ่ (90.13%) คิดว่าการคลอดลูกไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด คนเป็นแม่ก็รักและผูกพันกับลูกมากเท่าๆ กัน และไม่ได้มีผลต่อวามภูมิใจในความเป็นแม่
• แม่ Gen M มากกว่าครึ่ง (52.60%) ไม่ได้คิดกังวลมากนักว่าเธอต้องเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบเสมอไปแต่ในขณะที่แม่อีกเกือบครึ่ง (47%) คิดว่าคนเป็นแม่ต้องทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบเสมอ
• สำหรับการให้นมลูกในที่สาธารณะ แม่เกือบทั้งหมด 98% เห็นว่าถ้ามีผ้าคลุมให้นมลูกก็ไม่น่าเกลียดหรือน่าอายเพราะเป็นการเลี้ยงดูลูก และหากถามถึงความคิดเห็นของผู้อื่นในการมองเรื่องนี้ แม่ 54% คิดว่าคนส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องธรรมดาของการเลี้ยงลูก ในขณะที่แม่อีก 24% ตอบว่าคนส่วนใหญ่มองว่ายังน่าอาย ต้องทำในที่ส่วนตัว ซึ่งใกล้เคียงกับแม่อีก 23% ที่ยังลังเลไม่แน่ใจว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไรกันแน่

4. TAKE IT EASY theory แม่สายชิล สบาย...สบาย เพราะได้ตัวช่วยเพียบ
คุณแม่กลุ่มนี้เติบโตมาในยุคที่มีวิวัฒนาการของอุปกรณ์เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่สะดวกสบาย และลดปัญหาต่างๆ ในชีวิตลงจากแม่รุ่นก่อนนี้มาก ... เบิกถอนเงินผ่านATM ไม่ต้องไปแบงก์ เดินทางด้วยรถไฟฟ้าไม่ต้องโหนรถเมล์ ใช้คอมพิวเตอร์แทนพิมพ์ดีดมานานแล้ว จำวิธีใช้บัตรโทรศัพท์ไม่ได้เพราะมีโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เด็ก... ซึ่งเป็นปัจจัยให้เธอมีความ "ชิล" ในการใช้ชีวิตมากกว่าคนรุ่นแม่อย่างเห็นได้ชัด เรื่องความชิลนี้หมายรวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกของเธอด้วย จนมีคนบัญญัติศัพท์ว่าพวกเธอนั้นเลี้ยงลูกแบบ Third Child Style คือเลี้ยงลูกสบายๆ เหมือนมีลูกมาแล้วหลายคน
...ลูกล้มไม่โอ๋/ ลงโทษลูกแบบ Time-out ไม่ต้องตี/ เก้าอี้หัดเดินไม่ต้องใช้ ซื้อคอกเด็กให้แทน/ ลูกกับหมาอยู่ด้วยกันได้/ จับลูกแบเบาะโยนลงสระน้ำ… เรื่องเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้คนรุ่นย่ายายแทบเป็นลม อีกปัจจัยที่ทำให้พวกเธอไม่เครียดในการเลี้ยงลูกคือ เธอเชื่อว่าหากมีปัญหาเมื่อใด Google ช่วยเธอหา Solution ได้เมื่อนั้น จึงไม่เห็นจะต้องรีบร้อนกังวลไปทำไม!?

TAKE IT EASY theory
• แม่สมัยใหม่ใช้วิธีเลี้ยงลูกแบบที่ลูกไม่รู้สึกว่าถูกจับผิด หรือควบคุมจนลูกอึดอัด(77%)
• แนวทางการเลี้ยงลูกของแม่ยุคนี้ เน้นการให้อิสระตามความเหมาะสมกับวัยและสภาพแวดล้อม ไม่ควบคุมเข้มงวดมากเกินไป 65% และยังเปิดโอกาสให้ลูกตัดสินใจด้วยตัวเองถึง 60%
• นอกจากนี้แม่ยังหมั่นติดตามข่าวสารและหาความรู้ต่างๆเพื่อนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูก (61%)
พิมพ์ฐณัช ภฐณวาณิชกุล ศูนย์วิจัย สถาบัน RLG
5. INTERNET OF "mother" THINGS แม่ 4G เอาอยู่ทุกสถานการณ์
ชั่วโมงนี้เป็นยุคของ Internet of things (IOT) ที่สิ่งของ เครื่องมือ เครื่องใช้ มีสมองกล สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและพูดจาคุยกันเองรู้เรื่องได้ จนของทุกอย่างในบ้านต้องมีคำว่า SMART กันเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่คุณแม่ที่ได้กลายร่างเป็น SMART MOM เช่นกัน โดยสามารถใช้อุปกรณ์และเครือข่ายอัจฉริยะในมือดูแลจัดการชีวิต ครอบครัว ไปจนถึงลูกน้อยด้วยความสะดวกง่ายดาย ช่วยลดปัญหาในการเลี้ยงดู เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย มี APP เตือนทุกวันของอายุครรภ์ ว่าวันนี้ควรทำอะไร / ไลน์ถามคุณหมอทันทีเมื่อมีปัญหาสุขภาพเจ้าตัวเล็ก/ Facetime กับคุณยายก่อนนอน/ จับสัญญาณ GPS จากนาฬิกาของลูกรักว่ารถโรงเรียนไปส่งหรือยัง...
ทั้งหมดนี้ถ้าอินเทอร์เน็ตไม่ล่ม Wi-Fi ยังต่อติด 4G สัญญาณเต็ม มือถือแบตฯ ไม่หมด ... คุณแม่ยุค IOT ก็ยังสบายและ "เอาอยู่" ทุกสถานการณ์

INTERNET OF "mother" THINGS
แม่ยุค 4G สร้างประสบการณ์ใหม่ๆให้กับตัวเองผ่านเทคโนโลยี เพื่อช่วยลดภาระบางอย่าง และเพิ่มความสะดวกสบายรวมไปถึงเวลาให้กับตัวเองและครอบครัว
• 1 ใน 4 ของแม่บอกว่าอยากจะลองซื้อของใช้ทางอินเทอร์เน็ต เพราะประหยัดเวลาเดินทางไปร้าน (62%)
• แม่อีกจำนวนหนึ่ง (41%) บอกว่าการมีค่าใช้จ่ายบ้างไม่เป็นปัญหา ถ้าทำให้มีเวลาดูแลพูดคุยกับลูกมากขึ้น พอๆ กับแม่ 40% ที่ยอมจ้างคนมาช่วยทำความสะอาดบางโอกาสเพื่อให้มีเวลาพักผ่อนบ้าง
• ยุคนี้เป็นยุคของ แอปพลิเคชัน โดยเฉพาะประเภทผู้ช่วยมืออาชีพในด้านต่างๆ ซึ่งแม่ 63% ยินดีที่จะใช้บริการถ้าคุ้มค่ากับคุณภาพในการบริการ ส่วนอีก 24% มองในแง่ความสะดวกสบายถ้าหากจะเลือกใช้ แต่ก็ยังมีแม่ที่ไม่เลือกใช้เพราะไม่ไว้วางใจในความปลอดภัย 25%

ถ้าพูดถึงการดูแลลูกแล้ว แม่สมัยใหม่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการติดตามดูแลลูกในหลายรูปแบบ แม่ถึง 73% ยินดีจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์และศึกษาการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นตัวช่วยในการดูแลลูกให้ปลอดภัย แต่ก็ยังมีแม่อีกจำนวนหนึ่ง (27%) ที่มองว่าเรื่องเหล่านี้ไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง

"ไลน์"(Line) แอปพลิเคชันยอดนิยมของแม่และครูไทย
• แม่มากกว่าครึ่งที่ใช้ไลน์เพื่อคุยกับครูที่โรงเรียนลูก (58%) และคุยกับลูก (50%)
• นอกจากนี้แม่ยังมีไลน์ของพ่อแม่เพื่อนๆ ลูก และของเพื่อนๆ ลูกอีกด้วย (41% และ22% ตามลำดับ)
เฟซบุ๊ก (Facebook) อีกหนึ่งช่องทางในการติดตามข่าวสารของลูกและสังคมของลูกได้ดี
• แม่ 39% เลือกเป็นเพื่อนกับลูกทาง FB และยังเป็นเพื่อนกับครูของลูกอีกด้วย (36%)
• รองลงมาพ่อแม่เลือกการเพิ่มช่องทาง FB ในการเป็นเพื่อนกับพ่อแม่เพื่อนลูก 32% และเป็นเพื่อน FB กับเพื่อนลูก 22%
Gadget ชิกๆ หรืออุปกรณ์บางอย่างก็ช่วยได้
• มีแม่ 21% ที่เลือกใช้แอปพลิเคชันอื่นๆ เพื่อติดตามดูแลลูก
• กล้องวงจรปิด (20%) หรือเบบี้มอนิเตอร์(11%) ยังเป็นสิ่งที่พ่อแม่เลือกใช้ในการดูแลลูกอยู่
• เด็กสมัยนี้ใส่นาฬิกาติดตามตัวกันหายไม่ใช่น้อย (14%)

6. TRANS-PARENT Culture สังคมแม่ยุคใหม่ไร้พรมแดน
กำแพงกั้นขวางระหว่าง 'คนรู้จัก' กับ 'คนไม่รู้จัก' ของคุณแม่ Gen M หายไป เรื่องนอกบ้านและในบ้านนั้นห่างกันเพียงแค่นิ้วคลิก แม่ๆ ยินดีรวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นยิ่งกว่ายุคไหนๆ การเรียนรู้จากการได้ลงมือทำหรือการได้ฟังผู้เชี่ยวชาญตัวจริง เป็นสิ่งสำคัญพอๆ กับการเชื่อมต่อประสบการณ์จากพ่อแม่ออนไลน์คนอื่นๆ โลกของแม่เกิดการ seamless ง่ายขึ้นเพราะ SOCIAL NETWORK หรือ SOCIAL MEDIA กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของแม่ไปแล้ว

สังคมแม่ยุคใหม่ไม่มีพรมแดน สัมพันธภาพที่ดีเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จะเป็นโลก Online หรือ On Ground แม่ก็ยินดีเปิดกว้างต้อนรับเสมอ เพราะแม่ให้ความสำคัญต่อ Community เนื่องจากต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ปรารถนาที่จะมีเพื่อนคอเดียวกัน พบเจอแม่ที่มีประสบการณ์ร่วมแบบเดียวกันเพื่อความเข้าใจในสิ่งที่พวกเธอเผชิญอยู่ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นแม่ Gen M ปลาบปลื้มกับยอดไลก์รูปลูกที่น่ารักน่าชัง แม่ทำคลิปอาหารเด็กง่ายๆ ขึ้น Youtube ถามอาการลูกไม่สบายกับกลุ่มแม่คลับต่างๆ เพื่อความอุ่นใจก่อนที่จะไปหาหมอ พอๆ กับการไปร่วมกิจกรรมเรื่องพัฒนาการลูก ไปเที่ยวนอกห้องเรียนกับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียนลูก หรือเข้าร่วมงานอีเวนต์ที่น่าสนใจมากมาย เพราะพวกเธอเชื่อว่า ไม่มีใครเข้าใจแม่ ดีกว่าคนเป็นแม่ด้วยกัน

TRANS-PARENT Culture
• แม่ 86% ชื่นชอบที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และปรึกษาปัญหากับแม่คนอื่นๆ
• 80% ของแม่ Gen M อ่านรีวิวความคิดเห็นจากแม่คนอื่นๆ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าสำหรับลูกถ้าหากไม่เคยใช้มาก่อน ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยเมื่อปี 2015 โดย momypedia ที่พบว่าแม่มักหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตในเรื่องของใช้สำหรับแม่ตั้งครรภ์และหลังคลอด (41%) รวมไปถึงของเล่นเสริมพัฒนาการ (47%)และ Car Seat(45%) แต่ถ้าเป็นสินค้าสำหรับลูก หมวด Personal Care และ Personal Wash เช่น แชมพู สบู่ ยาสีฟัน ผ้าอ้อมเด็ก ฯลฯ แม่ยังคงให้ความสำคัญต่อการหาข้อมูลทางนิตยสาร ใกล้เคียงกับโฆษณาทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม หากเป็นสินค้าประเภท นม อาหารเสริม ยาหรือสินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ แม่จะยังปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือให้แพทย์แนะนำเป็นลำดับแรก (38%)

จากผลการวิจัยทั้งหมดเราพบว่า แม่ยุคนี้มีความคิดที่เปลี่ยนไป เป็นอิสระมากขึ้น มีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ยึดติดกรอบการเลี้ยงดูลูกแบบเดิมๆ แต่อย่างไรก็ตาม แม่ทุกยุคทุกสมัยก็ยังมีความกังวลใจอยู่บ้างเรื่องของการเลี้ยงลูก และแม่ต้องการตัวช่วยที่ไว้วางใจได้ จึงเป็นโอกาสของผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแม่ ในการทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดี ที่แม่ไว้วางใจ และจะดียิ่งขึ้นถ้าช่วยพวกเธอประหยัดเวลา ประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยเธอทำชีวิตให้ง่ายขึ้น และทำให้เธอรู้สึกว่าเธอเป็นคนดีเป็นแม่ที่ดี

นอกจากการนำเสนอผลวิจัยแล้ว ภายในงานยังมีการเสวนาจากกูรูด้านต่างๆ เพื่อร่วมเจาะลึกถึงพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์แม่ Gen M รวมไปถึงปัญหาของครอบครัวไทยที่พ่อแม่ต้องเตรียมรับมือ โดยคุณไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย(MAAT) ได้ร่วมให้มุมมองเรื่องของ "การรับมือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสูตรสำเร็จ" และ "กลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารใดที่จะมาตอบโจทย์กลุ่มแม่ Gen M"
ไตรลุจน์ นวะมะรัตน MAAT
ทางด้านสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงในประเทศไทยอย่าง Facebook โดย คุณรฐิยา อิสระชัยกุล Manager, Small and Medium Business, Facebook Thailand ก็มาร่วมแชร์ประสบการณ์ถึงการเติบโตของการใช้งานสื่อออนไลน์ที่สะท้อน lifestyle ของแม่ Gen M อีกทั้งยุคนี้นักการตลาดสามารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ด้วยตนเอง จากเครื่องมือ Audience Insights ที่ทางFacebook ได้จัดทำไว้ให้ และยังได้นำ Case Study จากผู้ประกอบการที่น่าสนใจมาเล่าให้ฟังเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ จากการใช้สื่อออนไลน์อีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีมุมมองจากคนที่ทำงานด้านครอบครัวและสังคมมายาวนานอย่าง คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี ได้นำเสนอข้อมูลสำหรับพ่อแม่ไทยยุค Gen M ทำความเข้าใจกับสภาวะครอบครัวใทยในยุคหน้า ปัญหาที่ต้องเผชิญ และการเตรียมตัวรับมือของพ่อแม่ โดยมีคุณชนิดา อินทรวิสูตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูกกรุ๊ป จำกัด ในกลุ่มบริษัท อาร์แอลจี เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ชนิดา อินทรวิสูตร รักลูกกรุ๊ป
การวิจัย Thai Millennial Mom ในครั้งนี้ทำการสำรวจในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยกลุ่มตัวอย่างคือแม่ที่มีอายุ 21-35 ปี จำนวนมากกว่า 2,000 ราย ทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์และเป็นแม่ที่มีลูกวัย 0-9 ปี 84% ของกลุ่มตัวอย่างจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นแม่ทำงานมากถึง 74% และอีก 26% เป็นแม่บ้านเลี้ยงลูกเต็มเวลา ในจำนวนนี้ 42% เป็นผู้มีรายได้ในระดับ Upper Class และ 46% อยู่ในระดับ Middle Class โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดในเขตเมือง

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ที่มีสถานะแม่อยู่จำนวน 28.5 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแม่ Gen M อยู่จำนวน 8 ล้านคน ในปี 2016 มีเด็กเกิดใหม่จำนวน 5 แสนคน ครึ่งหนึ่งของเด็กที่เกิดใหม่มาจากแม่ Gen M **
หมายเหตุ : ** ข้อมูลจาก 1. Sources: National Statistics Office (NSO) 2. Thailandometers, Mahidol University
3. Stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age.php



กำลังโหลดความคิดเห็น