นายวิทยา สนสิทธิ์ เจ้าของฟาร์มวิทยาสนสิทธิ์ ตั้งอยู่ที่ ต.โคกตูม อ.เมือง จ.ลพบุรี กล่าวว่า การเข้ารับการอบรมหลักการ GLP ทำให้ตนมีความรู้ความเข้าใจกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานมากขึ้น และได้นำแนวทางเหล่านี้กลับไปใช้ฟาร์ม โดยเฉพาะการปรับปรุงการจัดจ้างและบริหารแรงงานให้ดีขึ้น ในเรื่องของ สวัสดิการพิเศษ การจัดทำประกันสังคม การจัดทำเอกสารการจ้างงานให้เป็นระบบ ส่งผลให้แรงงานที่มีอยู่ 4 คน มีความเป็นอยู่ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้นตามกัน
ด้านนางสุดาพร สุวัฒโนดมผู้บริหาร บริษัท โกลเด้น ฟาร์ม จำกัด หรือจีดีเอฟ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า การอบรม GLP ทำให้ตระหนักดีว่าสถานการณ์แรงงานในอุตสาหกรรมไก่ของไทยเป็นที่สนใจของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งบริษัทฯ ได้นำหลัก GLP มาปรับปรุงระบบการจ้างงานของฟาร์มให้ดียิ่งขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทมีแรงงานในฟาร์มทั้งหมด 20 คน เป็นแรงงานพม่า 11 คน ที่ผ่านมาเราให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ของแรงงานที่ทำงานในฟาร์มมาโดยตลอด เน้นการปฏิบัติต่อแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน แรงงานได้รับการดูแลอย่างพี่น้องและมีความเป็นอยู่ที่ดี
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เดินหน้าจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ หรือ Good Labour Practices (GLP) แก่เกษตรกรเลี้ยงไก่กับซีพีเอฟ รวมทั้งผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ฟาร์มของซีพีเอฟ ครบทุกภาคตั้งแต่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือ และครั้งสุดท้ายจัดให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายกและชลบุรี ขณะนี้ เกษตรกรเลี้ยงไก่ของซีพีเอฟเข้ารับการอบรมเรื่องการดูแลแรงงานตามหลัก GLP ครบทั้งหมด 426 รายแล้ว ซึ่งจะเป็นยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติต่อทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นธรรมตามหลักสากล
“เกษตรกรทุกคนร่วมแสดงความมุ่งมั่นกับบริษัทฯ เพื่อเดินหน้านำหลัก GLP ไปปรับปรุงและพัฒนาระบบการดูแลและบริหารแรงงานในฟาร์มของตนเอง และพร้อมให้ซีพีเอฟและหน่วยงานรัฐเข้าตรวจสอบ เพื่อให้ถูกต้องตามหลัก GLP รวมทั้งมาตรฐานสากล” นายปริโสทัตกล่าว
หลังจากนี้ ซีพีเอฟจะมอบหมายให้คณะทำงานมาตรฐานแรงงานของบริษัทฯ ที่แต่งตั้งขึ้นประกอบด้วยผู้บริหารและตัวแทนจากสายงานทรัพยากรมนุษย์ เข้าตรวจประเมินการปฏิบัติตามหลักการ GLP ที่ฟาร์มเกษตรกรเลี้ยงไก่ในโครงการส่งเสริมอาชีพฯ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงการดูแลแรงงาน ตั้งเป้าในปี 2559 ฟาร์มเลี้ยงไก่ทุกแห่งของบริษัทดำเนินตามหลักการ GLP อย่างครบถ้วน
นายปริโสทัตกล่าวต่อว่า บริษัทฯ ได้กำหนดมาตรการในกรณีที่ตรวจพบฟาร์มที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน GLP โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ระดับแรก ในกรณีพบการใช้แรงงานที่เข้าข่ายเป็นแรงงานบังคับ เช่น ไม่มีการบันทึกเวลาเข้าทำงาน บริษัทจะให้เจ้าของฟาร์มดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนด ระดับที่สอง ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีการปฏิบัติไม่สอดคล้องกับหลัก GLP ซ้ำเดิม บริษัทจะยุติการรับซื้อสินค้ากับเกษตรกรรายดังกล่าวจนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ และมาตรการระดับสูงสุด ในกรณีพบการปฏิบัติที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ หรือกรณีร้ายแรง เช่น การใช้แรงงานต่างชาติผิดกฎหมาย ใช้แรงงานเด็กต่ำกว่า 15 ปี บริษัทจะพิจารณายกเลิกซื้อขายกับเกษตรกรรายนั้นทันที นายปริโสทัตกล่าวย้ำ
การผลักดันส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่ในห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อมีการดูแลและบริหารแรงงานตามหลัก GLP อย่างจริงจัง นับเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรเลี้ยงไก่ของบริษัทในการแข่งขันกับเกษตรกรในประเทศอื่นในอาเซียน และเวทีการค้าโลก และยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในฟาร์มเกษตรให้ดีขึ้น ส่งผลให้ลูกค้าและผู้บริโภคทั่วโลกเชื่อมั่นว่าสินค้าผลิตภัณฑ์ไก่ของไทยมาจากกระบวนการผลิตที่มีการดูแลและบริหารแรงงานที่ดี เป็นธรรม และเสมอภาค ตามหลักกฎหมายและมาตรฐานที่ยอมรับในระดับสากล