xs
xsm
sm
md
lg

CPF ตอบโจทย์การค้าโลก มาตรฐาน CSR ในฟาร์มไก่/ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ
ความท้าทายบนเวทีการค้าระดับโลก นอกจากต้องคำนึงเรื่องคุณภาพ มาตรฐานและราคาสินค้าแล้ว ในยุคที่ความรับผิดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นการพิจารณาในกติกายุคใหม่ ผู้ผลิตและส่งออกสินค้า จึงต้องแข่งขันในเรื่องความสามารถตอบสนองทั้งความต้องการของลูกค้าและประเด็นปัญหาที่ระดับโลกให้ความสนใจอีกด้วย
ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อและไก่ปรุงสดรายใหญ่อันดับ 3-4 ของโลก แต่ละปีอุตสาหกรรมไก่เนื้อมีส่วนช่วยทำเงินเข้าประเทศประมาณ 90,000 ล้านบาท ในปัจจุบันผู้ผลิตเพื่อส่งออกไก่สดและไก่แปรรูป ต้องคำนึงถึงความกังวลของลูกค้าหลักๆ 5 ประการ ได้แก่ 1. มาตรฐานสินค้า 2.ความปลอดภัยของอาหาร 3. การดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) 4.การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม
ข้อกังวลที่ 5.ที่ผู้ซื้อและคู่ค้าสนใจ คือ สิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมไก่

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่สดและไก่ปรุงสุกชั้นนำของไทย มีตลาดส่งออกแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ กลุ่มตลาดในเอเชีย ประกอบด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ตลาดกลุ่มที่ 2 คือ ญี่ปุ่น เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ในจำนวนของผู้บริโภคและมีความต้องการพิเศษ ส่วนกลุ่มตลาดที่ 3 คือ ตลาดยุโรป
ตลาดแต่ละกลุ่มจะมีความสนใจและความต้องการแตกต่างกัน เช่น ลูกค้าในญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับ ความปราณีต และรสชาติของสัตว์ และเริ่มมุ่งเน้นเรื่องความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและสังคมของผลิตภัณฑ์ไก่มากขึ้น ขณะที่ลูกค้าในยุโรปคำนึงถึงประเด็นสังคมสูงมาก ในแง่ของการอยู่ร่วมกันบนความสมดุลของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม
“อย่างลูกค้าในเยอรมนี จะสอบถามถึงการประหยัดและประสิทธิภาพเป็นหลัก เช่น การใช้พลังงานในกระบวนการผลิต การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ มีกระบวนการเพื่อให้ขยะลดลงหรือไม่” ประสิทธิ์กล่าว
การดูแลเรื่อง “สิทธิแรงงาน” นั้น ซีพีเอฟมีนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน การดูแลและจัดจ้างแรงงาน รวมทั้งยังร่วมมือกับภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมไก่ เพื่อพัฒนามาตรฐานการผลิตให้สามารถตอบโจทย์การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ
การปฏิบัติต่อแรงงาน โดยเฉพาะคู่ค้าในฝั่งยุโรปที่ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นเรื่องสิทธิแรงงานในห่วงโซ่การผลิตไก่ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้ใช้นโยบายการจัดจ้างแรงงานต่างด้าวโดยตรงในโรงงานแปรรูปอาหารและสถานกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แรงงานต่างด้าวทุกคนได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเสมอภาคและเท่าเทียมกับแรงงานคนไทย และมีนโยบายไม่เลือกปฏิบัติ และสนับสนุนผู้ประกอบการในห่วงโซ่การผลิตไก่ของบริษัทฯ ปฏิบัติตามหลักการแนวทางการดูแลแรงงานที่ดีตามหลัก GLP ตามมาตรฐานสากล
ซีพีเอฟให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมสัตว์ปีกให้มีการผลิตโดยคำนึงถึงการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้แรงงานในกระบวนการผลิตอย่างมีธรรมาภิบาล และได้เกิดเป็นความร่วมมือในลักษณะไตรภาคี ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมปศุสัตว์และสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทยขึ้น โดยประยุกต์จากหลักการปฏิบัติแรงงานที่ดี หรือ GLP สำหรับอุตสาหกรรมประมง มาตรฐานแรงงานไทย (TSL 8001-2553) รวมถึงมาตรฐานยุโรป อย่าง Business Social Compliance Initiative (BSCI) และ Ethical Trading Initiative (EIT) มาปรับให้เหมาะสมกับการดำเนินงานของสถานประกอบการฟาร์มสัตว์ปีก
GLP - Poultry Thailand (Good Labour Practices Guildelines for Poultry Farm and Hatchery in Thailand) ประกอบด้วย 10 หลักการสำคัญ คือ 1 ไม่ใช้แรงงานเด็ก 2. ไม่ใช้แรงงานบังคับ 3. ไม่เลือกปฏิบัติ 4. ไม่มีการค้ามนุษย์ 5. มีระบบการจัดการบริหารแรงงาน 6. มีเสรีภาพในการสมาคม 7.มีโอกาสแลกเปลี่ยนความเห็นกับนายจ้าง 8.มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัย 9.มีการจัดการสุขอนามัยและของเสีย 10.มีสวัสดิการที่เหมาะสม
ทั้งนี้ CPF ได้ร่วมมือกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเดินหน้าจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการฟาร์มเลี้ยงไก่ใได้สามารถนำหลักปฏิบัติต่อแรงงานที่ดีไปใช้ในสถานที่ทำงานได้อย่างและถูกต้องรวมกว่า 400 ราย และบริษัทฯ ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจติดตามความคืบหน้าและให้คำแนะนำทุกฟาร์มให้ครบภายในสิ้นปี 2559 รวมถึงจัดจ้างองค์กรภายนอกช่วยรองรับมาตรฐานการดูแลแรงงานของซีพีเอฟได้มาตรฐานสากล
 
ข้อคิด...
ความเคลื่อนไหวของ CPF ครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการตื่นตัวและความพร้อมในการสนองตอบต่อโจทย์ของกติกาโลกใหม่ที่ธุรกิจและอุตสาหกรรมจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ซึ่งกลายเป็นความสามารถในการแข่งขันยุคใหม่ หรืออาจมองว่าเป็นการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีก็ได้
ผมขอเรียกว่า “การใช้อุดมคติเป็นอาวุธ” เพราะคุณไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า มาตรการและเกณฑ์การตรวจสอบของผู้ซื้อจากตลาดโลกเป็นเรื่องไม่ดี เพราะเขาพูดถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
โดนเฉพาะความเข้มข้นของผู้ซื้อจากประเทศในยุโรป ซึ่งธุรกิจที่นั่นก็ถูกกดดันจากพลังของผู้บริโภค ถึงขนาดสามารถมีตัวแทนเข้าร่วมประชุมและถามให้ผู้บริหารตอบข้อสงสัยแหล่งวัตถุดิบเช่น กรณี NOMAD FOOD บริษัทผู้ผลิตอาหารยักษ์ใหญ่ของยุโรป โดยผู้บริโภคกดดันให้ต้องส่งตัวแทนมาดูมาตรฐานแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ในเครือข่ายของ CPF และยังไปพบอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อสอบถามสถานการณ์
ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตและส่งออกผลิตอาหารไปยังประเทศต่างๆ คำนึงถึงความกังวลและความสนใจของคู่ค้า โดยบริษัทฯ ได้นำมาตรฐานของทั่วโลกมาใช้ในกระบวนการผลิต ตั้งแต่มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร มาตรฐานการจัดการด้านพลังงาน ด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการดูแลและบริหารแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว
มีการนำมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001) และมาตรฐานด้านการจัดการแรงงานของคู่ค้าในต่างประเทศโดยเฉพาะสหภาพยุโรปมาใช้พัฒนาการดูแลและจัดการแรงงานในสถานประกอบการของบริษัทฯ โดยโรงงานอาหารสัตว์ โรงงานแปรรูปอาหาร 7 แห่งของซีพีเอฟ ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (มรท. 8001-2553) ระดับสมบูรณ์ขั้นสูงสุดมาแล้ว 2 แห่ง
เมื่อการตรวจสอบลามมาถึงแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่ กิจการที่มีระบบมาตรฐานดีพอ ก็ย่อมผ่านการท้าทายได้ดี นี่เป็นสิ่งยืนยันว่า การมีจุดยืน CSR ในกระบวนการดำเนินธุรกิจจะเป็นเครื่องรองรับความมั่นคงที่ยั่งยืนต่อไป

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น