ผลสำรวจพบคนไทยมีหนี้พุ่งเฉียด 3 แสนบาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 9 ปี แต่ยังดีที่หนี้นอกระบบลดลงเหลือแค่ 37.7% จากปีก่อนที่พุ่งสูงถึง 51.3% และหนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ และลงทุน จึงไม่น่ากังวล
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2559 ที่สำรวจจากกลุ่มเป้าหมายจำนวน 1,221 ราย ระหว่างวันที่ 1-12 ก.ย. 2559 ว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ 85% มีหนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 298,005.81 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มจากปี 2558 ที่มีหนี้ 248,004.65 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดในรอบ 9 ปี นับตั้งแต่การทำสำรวจมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20.2% สูงสุดในรอบ 8 ปี และเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเลข 2 หลัก ติดต่อกัน 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2556
ทั้งนี้ แม้จำนวนหนี้จะเพิ่มขึ้น แต่พบว่าจำนวนหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62.3% จากปีก่อนที่อยู่ 48.7% ขณะที่หนี้นอกระบบลดลงอย่างเห็นได้ชัด จาก 51.3% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 37.7% ในปี 2559 และลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 ปี
โดยหากดูจากผลสำรวจพบว่า สาเหตุของการเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 18.8% มาจากการซื้อสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้น เช่น บ้าน รถยนต์ เป็นต้น ขณะที่ 18.2% มีการผ่อนสินค้าเพิ่มขึ้น และ 13.2% เกิดจากค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น และเมื่อเทียบหนี้กับรายได้ พบว่า ปัจจุบันหนี้เพิ่มมากกว่ารายได้อยู่ที่ 19.3% ลดจาก 43.8% ในปีก่อน และหนี้เพิ่มน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 59.7% จากปีก่อนที่ 20.1%
“จำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นถามว่าน่ากังวลหรือไม่ ไม่น่ากังวล เพราะส่วนใหญ่ประชาชนมีหนี้เพิ่มขึ้นจากการซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ และกู้เพื่อลงทุน ทำให้ปัญหาที่หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 83-84% ของจีดีพีเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงไม่ใช่ปัญหาหลัก แต่เป็นเฉพาะกลุ่มคน เช่น กลุ่มที่รับจ้าง หรือเกษตรที่มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้ลดลง และชักหน้าไม่ถึงหลัง แต่โดยภาพรวมปัญหาหนี้ไม่น่ากังวล” นายธนวรรธน์กล่าว
นายธนวรรธน์กล่าวว่า การเพิ่มของหนี้ครัวเรือนนับตั้งแต่ปี 2556-58 พบว่ามีการเพิ่มขึ้นปีละ 2-3 หมื่นบาท แต่ในปี 2559 เพิ่มจากปี 2558 ประมาณ 5 หมื่นบาท ถือว่าเป็นการเพิ่มที่สูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดี การส่งออกไม่โดดเด่น ขณะที่การผ่อนชำระต่อเดือนปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2559 อยู่ที่เดือนละ 14,889 บาท จากปี 2557 ที่อยู่เดือนละ 13,358 บาท และปี 2558 เดือนละ 14,033 บาท
“รัฐบาลรับรู้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นอย่างดี และพยายามออกมาตรการต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการออกสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ การดึงธนาคารของรัฐมาปล่อยสินเชื่อให้ประชาชนเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้นอกระบบ ทำให้ประชาชนได้มีโอกาสปรับโครงสร้างหนี้ และส่งผลให้หนี้นอกระบบลดลงอย่างมาก ถือว่าเป็นผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลในการแปลงหนี้ของประชาชนจากที่อยู่นอกระบบให้มาอยู่ในระบบ” นายธนวรรธน์กล่าว