“พาณิชย์” กางแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ตั้งเป้าดันไทยเป็นผู้นำการค้าในภูมิภาค และที่หนึ่งของโลกด้านการค้าขายสินค้าเกษตรนวัตกรรม เผยแนวโน้มในอนาคตจะเลิกควบคุมราคา ปล่อยเสรีตามกลไกตลาด พร้อมเร่งสร้างผู้บริโภคเข้มแข็ง
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ในระยะ 20 ปี (2559-2579) โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทย 4.0 ที่เน้นการใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีในทุกๆ ด้าน โดยตั้งเป้าว่าไทยจะก้าวเป็นผู้นำการค้าของโลก หรืออย่างต่ำต้องเป็นที่ 1 ในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านสินค้าเกษตรเชิงนวัตกรรมที่ตั้งเป้าเป็นที่ 1 ของโลก แต่หากไม่เดินตามแผน แม้ไทยจะยังค้าขายต่อไปได้ตามปกติ แต่ก็จะเสียโอกาสการค้าและการลงทุน ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีการปรับตัวและมีการเตรียมพร้อมที่ดีกว่า
สำหรับแผนยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์ระยะ 20 ปี ได้กำหนดแผนเร่งด่วนที่ต้องทำภายใน 18 เดือน ใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาผู้ประกอบการแบบครบวงจร จะจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมเพื่อช่วยผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าเกษตรขั้นสูงเป็นสินค้าที่มีมูลค่า เร่งรัดแก้ไขปัญหาคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่ค้างอยู่ (Backlog) เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้านวัตกรรมให้ผู้ประกอบการ เร่งรัดแก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้ไทยพ้นจากบัญชีที่ต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ (PWL) ภายในปี 2560 และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและผลักดันการพัฒนาการค้าบริการ
นายสมเกียรติกล่าวว่า ในด้านการพัฒนาระบบการค้า จะมีการปฏิรูประบบการผลิตและการค้าสินค้าเกษตร โดยใช้การตลาดนำการผลิต เช่น ข้าว ปาล์มน้ำมัน น้ำตาล มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาปริมาณส่วนเกิน หรือคุณภาพไม่ตรงตามความต้องการ เพราะหากสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้แล้วก็จะช่วยผลักดันให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น และเกษตรกรได้รับประโยชน์ในที่สุด
นอกจากนี้ จะมีการปฏิรูปกฎหมาย ทั้งกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว กฎหมายการจัดตั้งนิติบุคคลเดียว กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายการส่งออกและนำเข้า การบังคับใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ และการผลักดันอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้า เช่น การพัฒนาระบบการจดทะเบียนธุรกิจ เป็นต้น
ส่วนยุทธศาสตร์การเสริมสร้างบทบาทผู้บริโภคจะเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะอนาคตกระทรวงพาณิชย์จะต้องลดบทบาทการควบคุมราคาสินค้า และปล่อยลอยตัวให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือหากควบคุมจะดำเนินการให้น้อยที่สุด ซึ่งบทบาทของกระทรวงพาณิชย์จะเปลี่ยนเป็นการอำนวยความสะดวกและต้องสร้างระบบผู้ประกอบการที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ไม่ทำร้ายตลาด โดยมีงานเร่งด่วนภายใน 18 เดือน คือ สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าด้วยราคาเป็นธรรม พัฒนาแอปพลิเคชันลายแทงของถูก พัฒนาช่องทางร้องเรียนให้สะดวกรวดเร็ว และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายผู้บริโภค
สำหรับยุทธศาสตร์สุดท้าย คือ การบูรณาการกับระบบการค้าโลก โดยงานเร่งด่วนคือ กระชับความร่วมมือกับกลุ่ม CLMVT เพื่อลดอุปสรรคการค้าการลงทุน สร้างภาพลักษณ์สินค้า ธุรกิจบริการของไทยให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ ผลักดันการส่งออกด้วยการตลาดนำการผลิต สร้างความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ และเข้าร่วมประชุมเจรจาเพื่อขยายตลาด เป็นต้น