“อนันตพร” เผยกรณีการลาออกของคณะกรรมการไตรภาคีอาจกระทบการพิจารณาโรงไฟฟ้ากระบี่ล่าช้า แต่เข้าใจว่ารัฐก็พร้อมที่จะเร่งตั้งคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า ย้ำต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ ด้าน กฟผ.พร้อมชี้แจงทุกประเด็นที่สงสัย
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้รับทราบกรณีนางเรณู เวชรัชต์พิมล กรรมการไตรภาคีสัดส่วนภาคประชาชนได้ลาออกจากคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่นั้นอาจทำให้การพิจารณามีความล่าช้าออกไป โดยทราบเบื้องต้นว่าเหตุผลที่ลาออกเพราะไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีอำนาจในการดูแลเรื่องดังกล่าวซึ่งก็เชื่อว่าที่สุดจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมาแทนเพื่อให้องค์ประชุมครบและทำงานได้ต่อไป
“ผมก็ไม่มีอำนาจในคณะกรรมการชุดนี้ แต่ก็รับทราบแล้ว ซึ่งความเห็นที่ไม่ตรงกันก็น่าจะคุยกันด้วยเหตุผล และคณะกรรมการก็ประกอบด้วย 3 ฝ่ายก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่จะฟังเสียงคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ความเห็นไม่ตรงกันได้แต่ก็ต้องมีเหตุผล” รมว.พลังงานกล่าว
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการกิจการสังคม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กรณีที่คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ภายใต้คณะกรรมการไตรภาคี บางท่านขอลาออก พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตและข้อสงสัย ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ในหลายประเด็น อาทิ การเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม มีความครบถ้วนและสอบถามประชาชนในพื้นที่หรือไม่
ทั้งนี้ ประเด็นการจัดทำรายงาน EHIA ได้มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งในรัศมี 5 กิโลเมตร และพื้นที่เกี่ยวเนื่องซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลทั้งภาคสนาม และสอบถามจากบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นไปตามแนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนด
ส่วนข้อห่วงใยเรื่องการเก็บข้อมูลพื้นฐานสารโลหะหนักนั้น เป็นเรื่องที่ กฟผ.ได้จัดทำไว้ในรายงาน EHIA ด้วยแล้ว รวมทั้งมีการประเมินการตกสะสมของโลหะหนักในสิ่งมีชีวิตตลอดอายุดำเนินการโรงไฟฟ้า 30 ปี ซึ่งจากการศึกษา ในพื้นที่โครงการพบการสะสมของโลหะหนักน้อยมาก อย่างไรก็ตาม หากมีการพบการสะสมที่ผิดปกติหรือเกินค่ามาตรฐาน กฟผ.จะรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการต่อไปด้วย
“กฟผ.พร้อมชี้แจงในทุกประเด็นสงสัยต่อคณะกรรมการไตรภาคีทุกชุด ซึ่งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามข้อเสนอของคณะกรรมการไตรภาคีดังกล่าวมาแล้ว รวมทั้งการทดลองเดินเรือส่งน้ำมันเพื่อทดสอบความขุ่นของตะกอน เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมุ่งหวังให้กระบวนการต่างๆ สามารถเดินหน้า มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันจนได้ข้อสรุป ตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีในการจัดตั้งไตรภาคี” นายสหรัฐกล่าว