“คมนาคม” จ่อฟื้นทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2, N3 สั่ง สนข.วิเคราะห์ข้อมูลใน 2 สัปดาห์เพื่อเร่งสรุปก่อนชง คจร.ตัดสินใจ “อาคม” ชี้ทางด่วนมีความจำเป็นและใช้ประโยชน์ตอม่อที่มี ส่วนรถไฟฟ้ามีเป้าหมายคนละกลุ่ม โดยให้ปรับแนวเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์สาย 9 เพื่อระบายรถ และวางระบบแก้คอขวดที่แยกเกษตร
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 N2 และ N3 ซึ่งมีการต่อต้านการก่อสร้างจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างตอน N1 ได้นั้น จากการพิจารณาของผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้านเศรษฐกิจ พบว่าโครงการยังมีความจำเป็น เพื่อบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนเกษตรนวมินทร์ ซึ่งปัจจุบันติดขัดมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า, เย็น และควรใช้ประโยชน์ตอม่อที่ได้มีการลงทุนก่อสร้างไปแล้ว จึงได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วิเคราะห์และประเมิน กรณีการก่อสร้างทางด่วน ตอน N2, N3 เปรียบเทียบกับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-บึงกุ่มทดแทน และให้สรุปข้อมูลเบื้องต้นเสนอใน 2สัปดาห์
โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้มีมติมอบหมายให้ สนข. ในฐานะหน่วยงานกลางศึกษาวิเคราะห์ระบบขนส่งที่เหมาะสมที่บนแนวเดิมของโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 แต่จะต้องใช้เวลา 14 เดือน ซึ่งเห็นว่านานเกินไป หากพบว่าการทำรถไฟฟ้าไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มมากกว่าระบบทางด่วนก็ควรรีบตัดสินใจ ซึ่งหากประเมินแล้วเห็นว่าควรเป็นทางด่วนเพราะก่อสร้างได้เร็วและมีประโยชน์กว่า จะต้องรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอ คจร. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติต่อไป
นอกจากนี้ ได้มอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) หารือร่วมกันเกี่ยวกับการดำเนินโครงการระบบทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 ส่วนที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายทางพิเศษฉลองรัฐ และถนนวงแหวนตะวันออก มอเตอร์เวย์สาย 9 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษของ กทพ. กับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง รวมถึงจุดเริ่มต้นที่แยกเกษตรจะต้องวางแผนการจราจรเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด เป็นไปได้อาจจะไม่ใช้ตอม่อช่วงใกล้แยกเกษตรเพื่อทิ้งระยะห่างของทางด่วนให้มีระยะเพียงพอในการระบายรถในช่วงดังกล่าว
“แนวคิดทางด่วนขั้นที่ 3 คือเชื่อมกรุงเทพฯ ตะวันตก และตะวันออก ข้ามถนนวิภาวดีรังสิตและพหลโยธิน ซึ่งขนานกันและมีระยะห่างกันไม่มาก ทำให้การจราจรบริเวณนั้นติดขัด แต่เมื่อสร้างตอน N1 ไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาใหม่เหลือตอน N2, N3 ซึ่งแนวคิดไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนัก และทางด่วนกับรถไฟฟ้ามีกลุ่มเป้าหมายคนละกลุ่มกัน” นายอาคมกล่าว
ด้านนายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ทางด่วนขั้นที่ 3 กรณีมีตอน N2, N3 นั้น บริเวณเชื่อมต่อแยกเกษตรจะมีข้อดีคือระบบทางด่วนจะช่วยรับรถออกได้สะดวกมากขึ้น ส่วนขาเข้านั้นจะต้องวางแผนด้านจราจรให้ดี เบื้องต้น กทพ.และกรมทางหลวงต้องหารือร่วมกัน เพราะแนวเส้นทางจะต้องก่อสร้างไปบนพื้นที่กรมทางหลวงตั้งแต่ถนนเกษตรนวมินทร์ จุดตัดถนน 351 และการเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ จะต้องออกแบบให้ดี มีกี่ทิศทางที่เชื่อมต่อ เพื่อให้เกิดความสะดวกสูงสุด
โดยตอน N2, N3 มีระยะทางประมาณ 12 กม. ค่าก่อสร้าประมาณ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง หากได้รับอนุมัติจะเริ่มออกแบบได้ทันที ส่วนรถไฟฟ้าจะมีขั้นตอนมากกว่าเพราะยังไม่ได้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA ) โดยแนวทางด่วนจะปรับช่วงปลายใหม่เพื่อเชื่อมต่อมอเตอร์เวย์ จากเดิมที่วางแนวลงถนนนวมินทร์เชื่อมถนนเสรีไทและถนนรามคำแหงสิ้นสุดที่ถนนกรุงเทพ-ชลบุรีสายใหม่ บริเวณถนนศรีนครินทร์ เนื่องจากปัจจุบันสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มีการออกแบบไว้ ทั้งนี้ กทพ.ได้ลงทุนก่อสร้างฐานราก (ตอม่อ) จำนวน 281 ฐาน ในแนวถนนเกษตรนวมินทร์ และ 4 ฐานบริเวณทางแยกต่างระดับทางด่วนฉลองรัฐมูลค่าเกือบ 800 ล้านบาท รวมกับค่าดอกเบี้ยตอนนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท