กรมการค้าภายในเตรียมเปิดหมู่บ้านทำมาค้าขาย นำร่อง “บ้านแม่กำปอง” จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก หลังเข้าไปช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพิ่มช่องทางตลาด และประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยว พร้อมจับมือ “เมืองโคฉิ” ทำเมืองคู่แฝด เดินหน้าพัฒนาร่วมกัน
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการหมู่บ้านทำมาค้าขายว่า กรมฯ จะเปิดตัวหมู่บ้านทำมาค้าขายแห่งแรกที่บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ ในเร็วๆ นี้ หลังจากกรมฯ ได้ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้านในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นหมู่บ้านทำมาค้าขาย และได้คัดเลือกบ้านแม่กำปองเป็นหมู่บ้านนำร่องเพราะมีศักยภาพมาก โดยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว ชาวบ้านปลูกต้นชา และเก็บใบชาขาย มีสินค้าที่เกี่ยวกับชาหลายอย่าง และยังมีสินค้าชุมชนอื่นๆ อีก
โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนในการพัฒนาตัวสินค้า ทั้งในเรื่องของรูปแบบ คุณภาพมาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ จัดที่ค้าขายให้เป็นรูปแบบเดียวกัน หรือปรับมาตรฐานร้านค้าให้ใกล้เคียงกัน จากนั้นจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยฝึกอบรมในการทำธุรกิจ ทั้งการทำบัญชี การเงิน การทำการตลาด การบริหารจัดการ การขนส่ง ซึ่งจะรวมไปถึงการช่วยสร้างเรื่องราวให้กับหมู่บ้านทำมาค้าขายเพื่อแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น
นอกจากนี้ ยังได้ช่วยเหลือในการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้เกิดการจำหน่ายสินค้า บริการ และผลิตภัณฑ์ชุมชน ระหว่างหมู่บ้านทำมาค้าขายไปยังหมู่บ้านอื่นทั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด รวมถึงเชื่อมโยงไปยังตลาดกลาง ตลาดชุมชน และจะผลักดันให้สามารถค้าขายผ่านออนไลน์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถทำมาค้าขายได้ ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายของรัฐบาล
“บ้านแม่กำปองเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เป็นหมู่บ้านเล็กๆ เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์ มีโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยว ชาวบ้านปลูกต้นชา และเก็บใบชาขาย มีสินค้าที่เกี่ยวกับชาหลายอย่าง และยังมีสินค้าชุมชนอื่นๆ อีก ซึ่งหลังจากที่กรมฯ ได้คัดเลือกแล้ว กรมฯ ได้ช่วยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชา และบรรจุภัณฑ์ให้มีรูปแบบสวยงาม แต่การเก็บใบชาของที่นี่ยังเป็นวิถีแบบเก่าๆ ทำให้เก็บได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ความท้าทายของกรมฯ คือ จะช่วยหาเทคโนโลยีในการช่วยเก็บใบชาได้อย่างไร แต่ต้องเป็นวิธีการแบบอนุรักษ์ และรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ด้วย”
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า กรมฯ ยังได้จัดทำโครงการเมืองคู่แฝดกับแม่กำปอง คือ เมืองโคฉิ ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ปลูกต้นชา และขายผลิตภัณฑ์ชา เป็นเมืองท่องเที่ยวแบบอนุรักษ์เช่นกัน โดยจะเอาเมืองโคฉิเป็นเมืองต้นแบบในการบริหารจัดการ และรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้แม้เป็นเมืองท่องเที่ยว เพราะคนในหมู่บ้านแม่กำปองเกรงว่าเมื่อคนเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้านมากขึ้นแล้วจะทำลายวัฒนธรรมดั้งเดิมของหมู่บ้านเหมือนสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งของไทย รวมถึงจะแลกเปลี่ยนข้อมูลในการพัฒนาสินค้าด้วย
อย่างไรก็ตาม นอกจากหมู่บ้านแม่กำปองแล้ว ยังมีหมู่บ้านออร์แกนิก (ออร์แกนิก วิลเลจ) อีกหลายแห่งที่กระทรวงพาณิชย์ให้การสนับสนุน และมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นหมู่บ้านทำมาค้าขายได้ รวมถึงหมู่บ้านที่อยู่ในเส้นทางผ้าทอ ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) ให้การสนับสนุน โดยตั้งเป้าหมายว่าในช่วงแรกของการดำเนินการจะเปิดหมู่บ้านทำมาค้าขายให้ได้ 10 แห่ง จากนั้นจะผลักดันให้เกิดขึ้นทุกจังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง