“นายกฯ” ตัดริบบิ้น เปิดใช้ทางด่วนสายใหม่ “ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ” 22 ส.ค.นี้ โดยจะเปิดให้ประชาชนขึ้นตั้งแต่เวลา 12.00 น. เก็บค่าผ่านทางรถ 4 ล้อ 50 บาท ปรับขึ้น 15 บาททุกๆ 5 ปี หรือเท่ากับ ส.ค. 64 จะต้องจ่ายค่าผ่านทางที่ 65 บาทแบบอัตโนมัติ ขณะที่ กทพ.-BEM เจรจาเร่งสร้างแลมป์เชื่อมทิศทางออกเมืองด้านเหนือ
รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แจ้งว่า ในวันจันทร์ที่ 22 ส.ค. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานในพิธีเปิดทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ณ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษกำแพงเพชร 2 โดยมีพิธีในช่วงเช้า จากนั้นจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่เวลา 12.00 น.เป็นต้นไป
โดยก่อนหน้านี้ กทพ.ได้ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานก่อสร้างและบริหารทางด่วน ได้มีการเปิดให้ประชาชนร่วมทดลองใช้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ โดยไม่เก็บค่าผ่านทางพิเศษ ตั้งแต่เวลา 05.30 น. ของวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ถึงเวลา 23.59 น. ของวันที่ 17 สิงหาคม 2559 มาแล้ว
รวมถึงได้มีการจัดกิจกรรมปั่นกินลม ชมทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เมื่อวันเสาร์ที่ 13 ส.ค. 2559 และจัดกิจกรรมวิ่งสามัคคี ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษเชื่อมสุขกรุงเทพ-กรุงธน ในวันเสาร์ที่ 20 ส.ค. 2559 ณ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสะพานพระราม 7 เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสัมผัสทางด่วนสายใหม่อย่างใกล้ชิด พร้อมชมบรรยากาศด้านบน เนื่องจากทางด่วนสายนี้มีเส้นทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงมีทัศนียภาพที่สวยงาม
สำหรับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ เป็นโครงการต่อขยายโครงข่ายทางพิเศษไปยังฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ มีระยะทางรวม 16.7 กม. เริ่มต้นจากถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (ถนนกาญจนาภิเษก บริเวณใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิมและข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระราม 7 สิ้นสุดโครงการบริเวณย่านบางซื่อ เชื่อมต่อทางพิเศษศรีรัชบริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต 2 และลงสู่ระดับดินที่บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 มีทางขึ้น-ลง 6 แห่ง คือ ทางขึ้น-ลงบรมราชชนนี ทางขึ้น-ลงราชพฤกษ์ ทางขึ้น-ลงบางบำหรุ ทางขึ้น-ลงจรัญสนิทวงศ์ ทางขึ้น-ลงพระราม 6 และทางขึ้น-ลงกำแพงเพชร 2
โดยกำหนดอัตราค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์แต่ละประเภท ประกอบด้วย รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท/รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 80 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 115 บาท โดยจะมีการปรับขึ้น 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตามสัญญาสัมปทาน ซึ่งคาดการณ์มีปริมาณจราจรในช่วงปีแรกที่เปิดประมาณ 97,000-100,000 คัน/วัน และจะเติบโตเรื่อยๆ จนเพิ่มเป็น 150,000 คัน/วัน ในปีที่ 5 หลังเปิดให้บริการ โดยจะมีการปรับขึ้น 15 บาททุกๆ 5 ปีตามสัญญาสัมปทาน
สำหรับด่านบางซื่อ 2 ซึ่งเป็นด่านเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัช ใช้อัตราค่าผ่านทาง รถยนต์ 4 ล้อ อัตรา 50 บาท รถยนต์ 6-10 ล้อ อัตรา 75 บาท และรถยนต์มากกว่า 10 ล้อ อัตรา 110 บาท
ขณะที่สัญญาสัมปทานกำหนดเงื่อนไขการแบ่งรายได้ให้ กทพ. เมื่อผลตอบแทนลงทุนสูงกว่า 13.5% โดย กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้ที่ 30% ส่วน BEM ได้รับ 70% โดยประมาณการปริมาณจราจรไวัที่ 1.5 แสนคนต่อวัน และหากผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงกว่า 15.5% กทพ.จะได้รับส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วน 50-50
***เร่งสร้างแลมป์เชื่อมด่วน 2 ทิศทางออกเมือง
อย่างไรก็ตาม แนวทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ จากด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานพระราม 6 แล้ว จะมีทางเชื่อมในทิศทางเข้าเมืองเท่านั้น โดยเชื่อมกับทางพิเศษศรีรัช แต่ไม่มีทางเชื่อมทิศทางออกเมืองไปด้านเหนือ ดังนั้นรถที่ต้องการออกเมืองจะต้องลงพื้นราบเพื่อใช้ถนนด้านล่าง ซึ่งจะทำให้เกิดความแออัดบริเวณหน้าสถานีขนส่งหมอชิต 2 และบางซื่อ ซี่ง กทพ.ได้หารือกับ BEM ในการก่อสร้างทางเชื่อม (แลมป์) ทิศทางออกเมืองด้านเหนือไปยังถนนแจ้งวัฒนะ ระยะทางประมาณ 300 เมตร
โดยเบื้องต้น BEM จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าก่อสร้าง กทพ.จะเป็นผู้จัดหาพื้นที่ก่อสร้าง โดยจะเร่งสำรวจพื้นที่เพื่อเจรจากับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อขอใช้พื้นที่ในการก่อสร้างตอม่อเพิ่มเติมต่อไป
ทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ วงเงินลงทุนทั้งสิ้น 32,816 ล้านบาท โดย รัฐบาลรับภาระเงินอุดหนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 9,564 ล้านบาท เอกชน คือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) รับภาระค่าออกแบบก่อสร้างและค่าควบคุมงานเป็นเงิน 24,417 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการให้บริการและบำรุงรักษาเป็นเงิน 8,399 ล้านบาท โดย กทพ.ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับ BEM เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2555 อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี (มีระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน)